Wednesday, March 31, 2010

มาร์คชี้พฤติกรรมข่มขู่ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย

มาร์คชี้พฤติกรรมข่มขู่ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย



คมชัดลึก :เอแบคโพลล์ระบุความสุขคนไทยเดือนมกราคมลดลง ผลจากความขัดแย้งในสังคมที่เกี่ยวโยงไปยังปัญหาทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคม สวนดุสิตโพลชี้ชัดขัดแย้งแก้รธน.ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลลดลง อภิสิทธิ์หวั่นแก้ไขรธน.เข้าทางนิรโทษกรรม






นายนพดล กรรณิกา  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ  เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง  “แนวโน้มความสุขมวลรวม GDH ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนมกราคม 2553 และความตั้งใจจับจ่ายใช้สอยของคนไทยเชื้อสายจีน ในช่วงตรุษจีนปีนี้” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดของประเทศ จำนวน 5,570 ตัวอย่าง  ระหว่างวันที่ 24-30 มกราคม  2553 พบว่าในเดือนมกราคมปี 2553 เทียบกับช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าความสุขลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือจาก 7.26 ตกลงมาอยู่ที่ 6.52 โดยพบว่า ความสุขของคนไทยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ตกลงจากที่เคยสูงถึง 5.58 เหลือเพียง 4.06 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีค่าความสุขคนไทยที่น่าเป็นห่วงเกือบทุกตัวชี้วัด คือ ความเป็นธรรมในสังคมตกลงจาก 7.07 มาอยู่ที่ 5.19 สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนตกลงจาก 7.09 มาอยู่ที่ 5.87 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตกลงจาก 7.58 มาอยู่ที่ 6.67 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตกลงจาก 8.96  มาอยู่ที่ 8.01 และสุขภาพใจของประชาชนก็ตกลงจาก 7.96 มาอยู่ที่ 7.58
 เมื่อจำแนกค่าความสุขมวลรวมของคนไทยตามภูมิภาค พบว่า  คนกรุงเทพฯ มีค่าความสุขต่ำที่สุดคือ 6.17 คนในภาคกลางได้รองสุดท้ายคือ 6.19  ส่วนประชาชนที่มีความสุขมวลรวมมากที่สุดคือ คนในภาคเหนือ ได้ 7.37 และรองลงมาคือ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ 6.69 ส่วนประชาชนในภาคใต้ ได้ 6.48
 นายนพดล กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ และบรรยากาศความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ กำลังลดทอนความสุขของประชาชนคนไทยลงไปอย่างน่าเสียดาย  ทั้งๆ ที่ความสุขของประชาชนคนไทยเคยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและกระจายไปในทุกกลุ่มทั่วประเทศ โดยสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ถึงความตั้งใจจะจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน เรื่องการเซ่นไหว้ อั่งเปา และการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่า ประชาชนคนไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 36.8 ระบุว่าเตรียมเงินไว้มากกว่าปีที่แล้วในการเซ่นไหว้  แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจ เช่นเดียวกัน คนไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 30.4 ระบุว่าเตรียมเงินไว้มากกว่าปีที่แล้ว สำหรับค่าอั่งเปา แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจ และคนไทยเชื้อสายจีน ถึงร้อยละ 45.8 ที่ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินเรื่องท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้านมากกว่าปีที่แล้ว  แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจโดยผลสำรวจพบว่ามีไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินในเรื่องเซ่นไหว้ อั่งเปา และการท่องเที่ยว น้อยกว่าปีที่แล้ว
 อย่างไรก็ตาม มีสองเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยในผลวิจัยชิ้นนี้คือ ความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมที่เกี่ยวโยงไปยังปัญหาทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กำลังลดทอนความสุขของคนไทย จึงเสนอให้ผู้ใหญ่ในสังคมเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างสร้างสรรค์ แสดงภาพให้สาธารณชนเห็นถึงการจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศถึงแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันก็ตาม เพราะอำนาจที่จะทำให้คนไทยจำนวนมากมีความสุขหรือทุกข์ก็อยู่ในการเคลื่อนไหวของผู้ใหญ่เหล่านั้น  แต่ทางออกสำหรับประชาชนคือ การปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  เพราะเมื่อความแตกแยกตกลงมาอยู่ในครัวเรือน  คนที่เป็นทุกข์ไม่ใช่นักการเมืองและคนที่เคลื่อนไหวให้เกิดความแตกแยก  แต่กลับเป็นคนในครอบครัวและชุมชนมากกว่าที่เป็นทุกข์
 ดังนั้น บรรยากาศความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมและปัญหาทางการเมือง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลดทอนความสุขของคนไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ได้.
สวนดุสิตโพลพบขัดแย้งแก้รธน.ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลลดลง
 “สวนดุสิตโพล” สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและ 19 จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 1,549 คน ระหว่างวันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ.2553 กรณีความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าทางออกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และระดมความคิดเห็นของนักกฎหมายที่มีความรู้ด้านรัฐธรรมนูญศึกษาผลดีผลเสียของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ตามลำดับ
 ผลสำรวจยังพบว่าปัญหาขัดแย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนห่วงการเมืองไทยอย่างมาก เพราะเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการสลับขั้วทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการยุบสภา หรือหากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งพรรคใดถอนตัว อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เป็นห่วง เพราะยังเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขปัญหานี้ได้ และยังเห็นว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่น่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้ เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต้องการเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลลดลง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์หวั่นแก้ไขรธน.เข้าทางนิรโทษกรรม
 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 55 ผ่านระบบ Tele Presence จากเมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส มายังชั้น 28 บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า  เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเท้าความสั้น ๆ ว่าตอนที่จัดตั้งรัฐบาลก็เป็นประเด็นหนึ่ง ซึ่งเราหยิบยกมาคุยกัน แล้วก็ได้พูดกันชัดเจนอย่างนี้ว่า
 1. ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็น ไม่ควรที่จะทำ เพราะทำแล้วจะเกิดความขัดแย้ง เพราะว่าปี 2551 ถ้าจำได้ชนวนของการเคลื่อนไหวชุมนุมกันตั้งแต่ต้นก็คือเรื่องนี้ ก็เห็นตรงกัน เช่น ประเด็นไหนที่นำไปสู่เรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องอะไร เราก็บอกว่าอย่าไปทำ
 2. เราบอกว่าถ้าการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่มีความจำเป็น เช่น เขียนในทางเทคนิคแล้วมันเป็นอุปสรรค ประเด็นไหนที่คิดว่าจะส่งเสริมประชาธิปไตยให้แก้ไขแล้ว อันนี้ตกลงกันเลยว่าอย่างนี้เดินหน้าด้วยกัน ขณะเดียวกันมันก็มีรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา หลายประเด็น ซึ่งไม่เข้าข่ายทั้งเรื่องการไปนิรโทษกรรม สร้างความขัดแย้ง และก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขหรือว่าพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยตรง
 หนึ่งในประเด็นเหล่านั้นคือเรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งผมพูดกับพรรคร่วมตั้งแต่ตอนที่ไปคุยกับเขาตอนจัดตั้งรัฐบาล ว่าประเด็นนี้ความเห็นเรายังไม่ตรงกัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไปเสนอตอนที่เขามีการทำร่างรัฐธรรมนูญว่า เราเชื่อว่าระบบปัจจุบันที่เป็นเขตใหญ่ มันดีกว่า เพราะว่าเราเห็นว่ามันลดความแตกแยกในการแข่งขัน ทำให้การแข่งขันรุนแรงน้อยกว่า เพราะฉะนั้น แก้ปัญหาธุรกิจการเมืองได้ส่วนหนึ่งด้วย และเห็นว่าการที่เป็นเขตใหญ่ช่วยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีความตระหนักถึงภาระหน้าที่ระดับชาติมากกว่า
ลั่นพฤติกรรมข่มขู่ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย
 นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ สามารถทำได้ เพราะตนถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ตนอยากจะเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ช่วยกัน คือ กำลังมีคนบางกลุ่มกำลังมีพฤติกรรมข่มขู่คุกคาม ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคม
 ดังนั้นสิ่งนี้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปดูแลว่าจะเข้าข่ายข่มขู่คุกคามหรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวในลักษณะไม่ใช่หลักประชาธิปไตยแล้ว " ต่อไปหากบ้านเมืองของเราปล่อยให้มีการข่มขู่คุกคามกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ หากปล่อยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นผมเชื่อว่าต่อไปบ้านเมืองเราก็จะอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากท่านใดถูกข่มขู่คุกคาม ก็ว่าจะมีอันตราย และอยากจะให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือดูแลให้ ทางรัฐบาลพร้อมจะเข้าในสนับสนุนดูแลให้ "
 เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะช่วงที่จะมีการตัดสินคดีสำคัญ นายกฯ กล่าวว่า  ตามที่เคยบอกไปแล้วว่า ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้จะลำบากหน่อย แต่รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ดูแลให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และขอยืนยันในสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา โดยเฉพาะการเคารพสิทธิเสรีภาพ โดยอยู่ภายใต้กฎหมาย
 เมื่อถามว่า มีความเห็นกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารที่ออกมาให้กำลังใจผู้บัญชาการทหารบก นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเห็นว่าเป็นการแสดงออกที่สามารถดำเนินการได้ แต่หากจะถามใจของตนเองไม่อยากจะให้มันเกิดความขัดแย้งในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรต่างๆ หรือแม้แต่นักการเมือง ส่วนที่มีกระแสข่าวการทำปฎิวัตินั้น เรื่องนี้ตนเห็นว่าไม่เห็นมีเหตุผล หรือเงื่อนไขอะไรที่จะต้องมาทำปฎิวัติ ประเทศมีระบบการเมืองที่มีระบบรัฐสภา ซึ่งก็สามารถทำงานำได้ตามปกติ ส่วนรัฐบาลก็พยายามทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศก็กำลังฟื้นตัวเป็นลำดับ " ดังนั้น ผมจึงมองๆไม่เห็นว่าจะมีการทำปฎิวัติรัฐประหารไปเพราะอะไร และสิ่งหนึ่งที่ผมมีความมั่นใจว่าหากมีการทำปฎิวัติไปแล้ว ผมก็มีความเชื่อว่าก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ "
ยืนยันสื่อเทศไม่มีรัฐประหารและรัฐบาลเคารพหลักกฎหมายนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีขณะร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอสเมื่อวานถึงกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลจะถูกโค่นลงจากอำนาจล้วนเกี่ยวพันกับการตัดสินของศาลในเดือนกุมภาพันธ์เกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความพยายามของม็อบเสื้อแดงที่ต้องการทำลายเสถียรภาพภายในประเทศ แต่ยืนยันว่าไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทำให้เกิดการรัฐประหาร  และตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่บริหารประเทศ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ รวมทั้งยังเคารพหลักกฎหมาย โดยอนุญาตให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชุมนุมแสดงความคิดเห็นได้
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยวิธีอื่นใดนอกเหนือจากการเลือกตั้ง และสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งอย่างเร็วเมื่อมีหลักประกันที่มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงและการข่มขู่ใดๆ แต่ขณะนี้ศัตรูทางการเมืองกำลังพยายามโจมตีรัฐบาล และปลุกกระแสด้วยการปล่อยข่าวเรื่องความรุนแรง และการปฏิวัติ ในช่วงที่ศาลจะมีคำตัดสินคดียึดทรัพย์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเคารพหลักกฎหมายเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียอมรับว่า อาจมีบางคนที่อึดอัดกับความล่าช้าของระบบกฎหมายในการดำเนินการกับกลุ่มม็อบเสื้อเหลืองที่ยึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบิน แต่ยืนยืนว่า การทำงานของตำรวจในทุกคดีมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และผมมีนโยบายชัดเจน โดยบอกกับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทำงานโดยไม่ต้องสนใจว่าใครมีส่วนพัวพันคดี และมั่นใจว่าพวกเขาจะปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ว่ารัฐบาลยึดหลักกฎหมายอย่างจริงจัง
ส่วนกรณีที่กัมพูชาได้แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่า ปัญหานี้ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นจากฝ่ายไทย เราไม่อยากเห็นปัญหาบานปลายยิ่งขึ้น และอย่างน้อยไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเท่าที่ผ่านมารัฐบาลก็สามารถควบคุมได้ และเพื่อให้ทุกอย่างกลับเป็นปกติ ก็เป็นความรับผิดชอบของกัมพูชาที่จะต้องทำให้ทุกอย่างกลับไปยังจุดก่อนที่จะมีการแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ
 
 
 








ข่าวที่เกี่ยวข้องอภิสิทธิ์โชว์ไทยอู่ข้าวอู่น้ำของโลกเดือนเดือด !ล้วงตับสุดสัปดาห์ - แสบเหลือเกิน คุณอภิสิทธิ์ต้องใช้อำนาจการเมืองทำการปฏิวัติการเมือง ?อ้างอดีตสสร.50หนุนเขตใหญ่ซื้อเสียงยาก

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive