Wednesday, March 13, 2013

เลขาสมช. ยันลงนามBRN ไม่ขัด ม.190

เลขาสมช. ยันลงนามBRN ไม่ขัด ม.190
พล.ท.ภราดร ชี้ ประชุมสภาฯ มั่นคง วันนี้เน้นวางกรอบ ลดโทนรุนแรง จว.ชายแดนใต้ เตรียมคุยมาเลเซีย 28 มี.ค. ยันไม่ผิด ม.190 ย้ำไม่ถึงขั้นตั้ง มหานครปัตตานี... วันที่ 13 มี.ค. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงการประชุมวางกรอบที่จะนำเรื่องไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ร่วมกับรัฐบาลมาเลเซีย ในวันที่ 28 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ว่า เรื่องหลักๆ ที่จะสื่อสารในที่ประชุมเวลาประมาณ 13.30 น.ในวันนี้ ก็คือ การลดโทนความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก โดยจะไปรับฟังความคิดเห็นของเขา ทางเราตอนนี้ก็มีการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะต้องลงไปหารือ รับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 มี.ค.นี้แล้ว ซึ่งยังเป็นก้อนใหญ่อยู่คงต้องมีการคัดเลือกรายชื่ออีกครั้ง  ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีการลงนาม พันธสัญญา หรือทำเอ็มโอยูใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่ต้องเกรงว่าอาจจะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างที่มีผู้หวังดีออกมาเตือน ทั้งยังเป็นการไปพบหารือกันนอกประเทศไทย โดยไปที่ประเทศเพื่อบ้านอย่างมาเลเซีย ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ธูรกิจแก๊ส-น้ำมันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังไม่นับองค์กร ภาคประชาชนต่างๆ เต็มไปหมด โดยการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมดทำร่วมกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของกันและกัน ส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะได้เป็นการสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่ และสืบเนื่องจากกรณีที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 นี้ด้วย เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทั้งของไทยและมาเลเซีย ทั้ง 2 ประเทศจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา หากทำไม่ได้ อนาคตประเทศอื่นมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็อาจจะต่อว่าได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่าการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนดังกล่าว อาจทำให้ไทยเสียเปรียบไปถึงขั้นนำไปสู่การตั้งมหาครปัตตานี หรือเกรงว่าอาจจะทำให้ปัญหายกตัวไปสู่เวทีนานาชาตินั้น พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะการหารือ พูดคุย กับกลุ่มอุดมการณ์ในพื้นที่ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เปรียบไปก็คือการไปพูดจากัน เมื่อรับข้อมูลจากฝั่งตรงข้ามาแล้วก็ต้องมาหารือกันกับทุกกลุ่ม ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน เอกชน ในประเทศอีกครั้งว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป ทั้งกรณี การตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือจะใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่น หรือไม่ อย่างไร การหารือทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญไทย และยังคงต้องพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องไปอีก เพราะยังไม่มีใครทราบว่า จะต้องดำเนินการไปในรูปแบบไหน แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะยังไม่ถึงขั้นตั้งมหานครปัตตานีแน่ เลขาฯ สมช. กล่าว.

มาร์คสอนกฎหมายเฉลิม คำร้องคุณชายไม่ถึงใบแดง

มาร์คสอนกฎหมายเฉลิม คำร้องคุณชายไม่ถึงใบแดง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สอนกฎหมาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คำร้องคัดค้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไม่ถึงใบแดง แนะรัฐระวังพูดเรื่องตั้งนครรัฐปัตตานี... นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยอมรับว่า บทสรุปการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น จะจบลงที่การตั้งมหานครปัตตานี ว่า เป็นการพูดที่ใช้ความระมัดระวังน้อยเกินไป เพราะหลายคนในพื้นที่ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปลายทาง อีกทั้งรูปแบบที่จะกระจายอำนาจเพิ่มเติม ก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว  ฉะนั้น การจะสรุปล่วงหน้าเป็นเรื่องอันตราย จึงอยากให้ระวัง เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยก็เคยหาเสียงเรื่องนครปัตตานี แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ตอบรับ เพราะเขาต้องการความเป็นธรรมและต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่สูตรสำเร็จที่พูดกันอยู่ขณะนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า หากตั้งสมมติฐานผิดก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ตนไม่ได้บอกว่า การมีรูปแบบกระจายอำนาจพิเศษไม่ควรทำ แต่ในช่วงที่จะเริ่มต้นการพูดคุยยังไม่มีความชัดเจนว่า ฝ่ายที่มาคุยด้วย สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้หรือไม่ การไปพูดล่วงหน้า จะยิ่งทำให้การทำงานยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปฏิบัติจะต้องทำหน้าที่ตามกฏหมาย แต่นโยบายในการพูดคุยยังขาดทิศทางที่ชัดเจนที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ย้ำอย่าเอาผลประโยชน์ธุรกิจเป็นตัวชี้นำ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ภาพที่ออกมาเหมือนว่ารัฐอ่อนข้อ ไม่เป็นผลดีในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานต้องรู้ถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา พล.ท.ภราดร ก็ต้องทบทวน เพราะ สมช.มีบทบาทมาตลอด ถ้ามั่นคงในแนวทางที่เคยทำ ปัญหาจะไม่เกิด และตนเคยทราบมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความสนใจเรื่องโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ ที่คาบเกี่ยวอยู่ จึงอยากเตือนว่าการดำเนินนโยบายความมั่นคงการต่างประเทศ อย่าเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเป็นตัวนำ ส่วนรัฐบาลจะมีการทบทวนสิ่งเหล่านี้หรือไม่ อยู่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องยืนยันผลประโยชน์ของประเทศ ย้อน“ยิ่งลักษณ์” นายกฯมาเลย์ พูดชัด ทักษิณ เจรจาโจรใต้ ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์​ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกับสื่อต่างชาติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจานั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเชียยอมรับในเรื่องนี้ จึงอยากให้พูดความจริงกับประชาชน เพราะถ้านายกฯ ไม่พูดความจริงกับประชาชน สุดท้ายคำพูดก็จะไม่มีความหมาย ตนเป็นห่วงเพราะมีเรื่องสำคัญของประเทศหลายอย่างที่นายกฯ ต้องมีความชัดเจน และให้ความจริงกับประชาชนไม่หวั่น กกต. สอนเชิงกฎหมาย เฉลิม นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่กังวลในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กทม. สรุปคำร้องส่งให้ กกต.กลาง เพราะเป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะ กกต.จังหวัด มีหน้าที่นำเสนอ และสรุปความเห็นไปยัง กกต.กลาง โดย กกต.กลางมีอำนาจเต็มว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้น จึงต้องรอดูว่าวันที่ 14 มี.ค. กกต.กลาง จะพิจารณาอย่างไร ส่วนตัวยังมั่นใจว่าข้อร้องเรียนที่พูดถึงไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีส่วนไหนที่เข้าข่ายมาตรา 57(5) ว่ามีใครไปขู่เข็ญ บังคับหลอกลวง ทั้งนี้ รู้ว่ามีความพยายามจากคนที่แพ้ หรือไม่พอใจ ปั่นกระแสเรื่องใบเหลือง ใบแดง จึงอยากขอให้ กกต.ทำงานโดยปราศจากแรงกดดันว่าไปตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย สอนเชิงกฎหมาย “ดร.เฉลิม” เชื่อแค่ปั่นกระแส ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุฟันธงว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. จะได้ใบเหลือง หรือใบแดงนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะเคยฟันธงว่า พ.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย จะชนะมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ตนเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม คงไม่รู้กฎหมายว่า กรณีใบแดง เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากข้อร้องเรียนไม่ได้เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร แค่นี้ก็เห็นชัดว่าไม่รู้กฎหมาย คงเป็นความพยายามจะปลุกกระแสผู้สนับสนุนตัวเอง เพราะทำอย่างนี้มาตลอด แต่สังคมและผู้รับผิดชอบต้องเข้มแข็ง ทำอย่างตรงไปตรงมา หวังว่าหลังการตัดสิน กกต. ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทุกคนต้องเคารพกติกา “ข่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ผมหวั่นไหว แต่ยอมรับว่าผู้สนับสนุนมีความกังวล และเมื่ออ่านข่าวก็ตกใจว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ จึงอยากฝากไปยัง กกต.ว่าทุกครั้งที่มีการตัดสิน ย่อมมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ แต่สิ่งที่จะคุ้มครอง กกต.ได้ดีที่สุดคือ การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ว่าไปตามเนื้อผ้า และข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งต้องอธิบายคำตัดสินของตัวเองด้วยว่าเหตุผลคืออะไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.

เอแบคโพลล์เสนอโรดแมป3ปัจจัย ทำทุกคนในชาติรวมเป็นหนึ่งเดียว

เอแบคโพลล์เสนอโรดแมป3ปัจจัย ทำทุกคนในชาติรวมเป็นหนึ่งเดียว
เอแบคโพลล์ เสนอบทวิเคราะห์ 3 ปัจจัย ได้แก่ รณรงค์ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล และ กำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อทำทุกคนในชาติไทย รวมเป็นหนึ่งเดียว...วันที่ 13 มี.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอโรดแมป 3 ปัจจัย รวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียว บนผืนแผ่นดินไทย ทั้งนี้ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังคงมีสัญญาณของความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติและความไม่มั่นคงภายในประเทศปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ในทางการเมืองระดับชาติและในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทยด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่ การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดินเป็นค่านิยมร่วม (Common Value) ความวางใจในรัฐบาล (Trust in the Government) และการกำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Goals)ประการแรก ได้แก่ การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดินเป็นเรื่องของ “ค่านิยมร่วม” (Common Value) คือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ทุกคนในชาติตระหนักถึงค่านิยมและคุณค่าที่หล่อหลอมคนไทยทั้งประเทศมาเป็นเวลานานนับหลายร้อยปี ที่บรรพบุรุษของคนไทยทุกคนเสียเลือดเสียเนื้อและเสียชีวิต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศนอกจากนี้ “ความเป็นไทย” หรือที่เรียกว่า เป็น DNA ของคนไทย ที่ประกอบไปด้วย ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่คนไทยทุกคนมีจิตใจแห่งความเมตตา กตัญญูรู้คุณ มีไมตรีจิต ความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ตามกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ต้องเร่งปลูกฝังและหล่อเลี้ยงให้เติบโตเข้มแข็งในจิตใจของประชาชนทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติใดที่มาอยู่บนผืนแผ่นดินไทยนี้ประการที่สอง ได้แก่ ความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล (Trust in the Government) เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องทำให้ได้บนพื้นฐานของจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักการเมืองที่แท้จริง เพราะนักการเมืองคือผู้ที่ต้องทำหน้าที่ลดความขัดแย้งของคนในชาติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเสียเอง นักการเมืองปัจจุบันต้องเป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้ที่มาเป็นรัฐบาล นักการเมืองต้องวางใจผู้อื่นก่อน ก่อนที่จะเรียกร้องและปลุกระดมให้ผู้อื่นวางใจตนเมื่อพรรคการเมืองคู่แข่งชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ก็ต้องเคารพและให้โอกาสรัฐบาลทำงานแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ถูกหรือผิด ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการแห่งกลไกของรัฐ เพราะเมื่อพิจารณากันจริงๆ จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลก็ผิดพลาดและมีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องออกมาต่อต้านอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทางออกคือ รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดของงบประมาณ ที่ทำให้สาธารณชนสามารถแกะรอยตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของทุกเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายไปนอกจากนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนของประเทศไทย จึงต้องเร่งรณรงค์ในกลุ่มนักการเมืองและประชาชนฐานเสียงแฟนคลับของตนให้รู้จัก “เคารพผู้อื่น” ทำให้เกิดสำนึกว่า ประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ไม่ว่าอยู่ภูมิภาคใดของประเทศมีคุณค่าเท่ากับหนึ่งเสียงเท่ากัน ดังนั้น ต้อง “ไม่” ทำให้มวลหมู่ประชาชนรู้สึกว่าเสียงของคนกรุงเทพมหานคร มีคุณค่าหรือเป็นเสียงที่ฉลาดกว่าคนต่างจังหวัด และคนในต่างจังหวัดต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเสียงของพวกตนมีมากกว่าเสียงของคนกรุงเทพฯประการที่สาม ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Goals) นี่คือประการสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรวมทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกันสู่เป้าหมายของชาติ ยกตัวอย่างในปี พ.ศ. 2504 ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้กล่าวปลุกจิตสำนึกของชาวอเมริกันในความหมายที่ว่า ถ้าจะถามกันว่าประเทศชาติสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับคุณได้ ก็ขอให้เปลี่ยนมาถามกันว่า คุณสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติได้บ้าง โดยประธานาธิบดี Kennedy ได้ประกาศเป้าหมายร่วมกันของชาวอเมริกันว่า หน้าที่ของชาวอเมริกันคือ ทำงานหนักและพิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นว่า วิถีชีวิตของชาวอเมริกันและระบบทุนนิยมเหนือกว่าระบบคอมมิวนิสต์ ที่กำลังมีอิทธิพลแผ่กว้างไปทั่วโลกในเวลานั้นเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่า ประเทศไทยในเวลานี้ กำลังต้องการการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจนว่าประชาชนทุกคนที่กำลังอาศัยพักพิงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถมาเป็นหุ้นส่วนกันที่จะกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นประเทศที่มีนัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะและทิศทางการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป้าหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและผลประโยชน์ของทุกคนในชาติและแนวทางบางอย่าง ที่จะทำให้พวกเราทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ ได้แก่ การที่คนไทยส่วนใหญ่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ โดยสถาบันการศึกษาและนักเรียน นักศึกษาทุกคน สามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติทั่วโลกได้ดีนอกจากนี้ การทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าวและการส่งออก จะทำให้ชาวนาเกษตรกรทุกคนและผู้ประกอบการโรงงานด้านการเกษตรทำงานหนักร่วมกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณ และการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการเงินและเทคโนโลยี จะทำให้กลุ่มคนทำงานประจำสำนักงานมีพลังทำหน้าที่ของพวกเขาให้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมและธุรกิจของพวกเขาสุดท้ายปัจจัยสู่ความสำเร็จของการรวมทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทยอยู่ที่การสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายจากผู้ใหญ่ในสังคม ที่จะช่วยกันอธิบายต่อคนไทยทั้งประเทศว่า ทำไมปัจจัยเหล่านี้จึงสำคัญต่อประเทศไทย และทุกคนในชาติที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน และบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และต้องอธิบายให้เห็นแนวทางว่าคนไทยทุกคนและประชาชนทุกชาติทุกภาษา ที่กำลังเดินบนผืนแผ่นดินไทยนี้ จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่จากความสำเร็จของปัจจัยสำคัญทั้งสามประการที่กล่าวมาข้างต้น.

Blog Archive