Saturday, March 30, 2013

รองปลัดบัวแก้ว เชื่อมั่นแนวทางสู้ศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

รองปลัดบัวแก้ว เชื่อมั่นแนวทางสู้ศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร
นายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชื่อมั่นแนวทางการต่อสู้ศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร การตีความไม่สามารถออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิมได้ ขณะที่ ดร.วีระชัย ปัดพูดเรื่องแพ้ชนะ....เมื่อวันที่ 30 มี.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมนักข่าวอาเซียน จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง “เขาพระวิหาร การตีความใหม่ และชะตากรรมของสองชาติ” ณ ห้องประชุม 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ และดร.วีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะทีมสู้คดีของฝ่ายไทย ดำเนินรายการโดย ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนายณัฎฐวุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 และการดำเนินการของรัฐบาลไทย ว่า ทั้งกระบวนการชี้แจงด้วยเอกสารของไทยเสร็จสิ้นแล้ว มีประมาณ 1,300 หน้า ขณะที่กัมพูชามี 300 หน้า ซึ่งในวันที่ 15 เมษายนนี้ ศาลให้เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ส่วนกระบวนการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจา ศาลกำหนดให้มีขึ้น 15-19 เมษายน 2556 นำโดยดร.วีรชัย และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พร้อมที่ปรึกษากฎหมายอีก 3 ท่านของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และแคนาดา มีความเชี่ยวชาญแต่ละประเด็น ข้อกฎหมาย รวมทั้งมีการแบ่งหน้าที่การชี้แจงต่อศาลรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า การขึ้นมรดกโลกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง วันนี้กัมพูชาพยายามทำคดีปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นเรื่องของเส้นเขตแดน เรามีข้อเท็จจริงบางอย่างบางเรื่องซึ่งเป็นประเด็นเชิงลึก ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นอาวุธลับ จนทำให้ทีมทนายมีความเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อปี 2502 หรือ 50 ปีที่แล้ว กัมพูชาเพิ่งได้เอกราชยื่นฟ้องไทย ให้ศาลโลกตัดสิน 2 ข้อ 1.ให้ไทยถอนกำลังออกจากปราสาทพระวิหาร และ 2.ให้ศาลบอกให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา ซึ่งไม่มีเรื่องเขตแดน กระทั่งปี 2505 กัมพูชาขอเพิ่มอีก 3 ประเด็น 1.ขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดเขตแดนไทยกัมพูชา 2.ให้เป็นไปตามแผนที่ 1:200000 และ 3.ขอให้ไทยส่งคืนวัตถุโบราณ” นายณัฎฐวุฒิ กล่าว และว่า คำขอให้ศาลโลกตัดสินทั้งหมด 5 ข้อของกัมพูชา ศาลโลกตัดสิน 3 ข้อเท่านั้น 1. ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา 2.ให้ไทยถอนกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ และคำขอเพิ่ม 3 ข้อหลัง ศาลไม่ยอมชี้เรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่ ทั้งที่ๆ กัมพูชาขอในคำฟ้อง นี่คือจุดที่ไทยจะใช้ในการต่อสู้“คดีนี้ไม่ใช่คดีใหม่ กัมพูชาอาศัยข้อบังคับที่ 60 ของธรรมนูญศาลโลก ขอให้ศาลตีความคดีเก่า 2502 ที่ตัดสินเมื่อปี 2505 ช่องทางเดียวที่กัมพูชาเอาเรื่องกลับไปศาลโลกได้ ซึ่งเชื่อว่าการตีความไม่สามารถออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิมได้” รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวด้าน ดร.วีระชัย ในฐานะตัวแทนของราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงข้อต่อสู้ของไทยเพิ่มเติมว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นความลับนั้น ขอให้รอ บ่ายสาม ของวันที่ 15 เมษายนนี้ ที่ศาลโลกให้สามารถเปิดเผยเอกสารของคดีทั้งหมด ซึ่งวันดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศจะมีการแปลเป็นภาษาไทยให้สาธารณชนรับทราบ“เราต้องไม่ลืมด้วยว่า เอกสารของคดีที่ศาลโลกประมวลไว้นั้น ทุกอย่างถูกสกัดมาก่อนการตัดสินแล้ว ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลโลกจึงไม่ได้ออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ทำให้กัมพูชาจะฟ้องออกนอกกรอบนั้นไม่ได้ ด้วยหลักกฎหมายศาลให้เกินขอไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายเขียนไว้ชัด” ดร.วีระชัย กล่าว ดร.วีระชัย กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาเป็นเพียงปลายภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เนื่องจากเรายังมีแนวทางต่อสู้อีกจำนวนมาก สุดท้าย เป้าหมายของไทย คือ อยากให้ศาลโลกตัดสินว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจ เพราะคำขอของกัมพูชาออกนอกลำแสง เพราะไม่ขอเรื่องเขตแดน เราอยากให้ศาลตัดสินว่า ศาลปี 2505 มิได้ตัดสินว่า เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1:200000 นี่คือเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากศาลโลกจะตัดสินพิพากษามีอำนาจ ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน ตนไม่อยากพูดเรื่องแพ้ชนะ มิเช่นนั้นจะมีการเอาคืน อยากให้อยู่กันอย่างมีความสุข สงบ และสันติภาพมากกว่าด้าน รศ.ศรีศักร กล่าวว่า อดห่วงเรื่องการตีความของศาลโลกไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบ ที่คนมุ่งไปที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หากไม่เตรียมให้ดีเชื่อว่า จะมีปัญหา พร้อมฝากให้คิดหากไทยแพ้แล้วจะทำกันอย่างไร คนในพื้นที่เดือดร้อน คนท้องถิ่น ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งไทยและกัมพูชา“เวลาเราสู้กับเขา ผมคิดว่า เราน่าจะแพ้ เพราะสังคมไทยเป็นประเทศที่ไม่มีสำนึกเรื่อง The Nation ทุกรัฐบาลพร้อมจะขายแผ่นดินให้ต่างประเทศ นายทุนก็กำลังรุกยึดครองพื้นที่ ทำแหล่งกาสิโน ขณะที่นักวิชาการเป็นพวกไม่มีพรมแดน ต่างจาก กัมพูชาและลาว”ด้าน นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เดือนเมษายนตัดสินชะตากรรม พร้อมเชื่อว่า ผลของการตีความของศาลจะทำให้เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นบาดแผลระหว่างสองชาติเกินเยียวยา หากพิจารณากัมพูชาจะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ขณะที่การเมืองไทย เลวๆ ก็จะหยิบประเด็นนี้มา ห้ำหั่นกัน “ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ประเด็นนี้จะคงถูกใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และถูกจุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา ในฐานะสื่อมวลชนต้องเข้าใจคดีนี้อาจไม่ใช่ประเด็นด้านเทคนิค กฎหมายอย่างเดียว จำเป็นต้องรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ที่อาจก่อให้เกิดการใช้กำลัง และนำมาซึ่งความสูญเสีย” นายสุภลักษณ์ กล่าว.

หลานนายกฯปู แจงไม่มีการจ้างทำงานวิจัยรถไฟความเร็วสูง

หลานนายกฯปู แจงไม่มีการจ้างทำงานวิจัยรถไฟความเร็วสูง
ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานนายกฯ ปู แจงผ่านเฟซบุ๊ก กรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ระบุกลางที่ประชุมสภาระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า วิป วิญญรัตน์ ได้รับการว่าจ้างจัดทำโครงการ วิจัยเรื่องรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาล ยันไม่เป็นความจริงเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2556 น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหลานสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Sand.Chayika ว่า กรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ระบุกลางที่ประชุมสภาระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า นายวิป วิญญรัตน์ ลูกชายนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี   ได้รับการว่าจ้างจัดทำโครงการ วิจัยเรื่องรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาล จากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดพบว่าไม่มีความจริง เพราะโครงการวิจัยเรื่องรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่เรื่องการก่อสร้าง หรือ โครงการด้านเทคนิคตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา แต่เป็นโครงการศึกษาการสร้างมูลค่าและคุณค่าที่เกิดจากการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศไทย กรณีศึกษาเรื่องรถไฟความเร็วสูง โดยทีซีดีซีได้จัดทำขึ้น ใช้งบประมาณจำนวน 5.6 ล้านบาทเพื่อศึกษาศักยภาพและความเป็นได้ของธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการของภาครัฐ เช่น วัสดุไทยที่มีโอกาสเข้าไปตกแต่งในรถไฟความเร็วสูง ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาสำหรับเอสเอ็มอีและโอทอป ซึ่งทีซีดีซีได้จ้างนักวิจัยหลายส่วน ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ นักวิจัยข้อมูลเพื่อสำรวจภาคสนาม นายวิปเป็นหนึ่งในนั้นที่เข้ามาร่วมกลุ่มกับนักวิจัยอื่นๆ ทำงานไม่ได้เป็นผู้รับจ้างวิจัยน.ส.ชยิกา ระบุอีกว่า ส่วนโครงการนิทรรศการไทยแลนด์ 2020 นายกฯมอบหมายให้ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯดูแลภาพรวมของเนื้อหาการนำเสนอทางคณะทำงานของประธานที่ปรึกษาฯได้รวบรวมและจัดส่งข้อมูลให้ผู้จัดทำ แต่ไม่มีการว่าจ้างใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น อีกทั้งนายวิปได้รับการแต่งตั้งจากประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ เป็นคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงาน การค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลเช่นเดียวกับคณะทำงานคนอื่นๆ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากส่วนราชการทั้งสิ้น.

สิ้นอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ประชุม รัตนเพียรด้วยโรคชรา

สิ้นอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ประชุม รัตนเพียรด้วยโรคชรา
บิดา ประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุม รัตนเพียร อดีตรัฐในตรีหลายกระทรวง เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอายุ 88 ปี ตั้งศพบำเพ็ญกุศลวัดเทพศิรินทราวาส...เมื่อวันที่ 30 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประชุม รัตนเพียร บิดาของนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา อายุรวม 88 ปี โดยมีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 16.00 น. วันที่ 31 มี.ค. และเวลา 19.00 น. พิธีสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. - 6 เม.ย.นี้ ที่ศาลากวีนฤมิตร วัดเทพศิรินทราวาสสำหรับประวัตินายประชุม รัตนเพียร หรือครูชุม นั้น ทุกคนมักจะเรียกชื่อนี้ตามที่ คุณกำพล วัชรพล อดีต ผอ. ไทยรัฐ ที่เคยเรียกอย่างใกล้ชิด เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2469 เป็นบุตร กำนัน อิ่ม – นางแวว รัตนเพียร สมรสกับ นางวิจิตรา รัตนเพียร โดยมีบุตร – ธิดา 4 คน ได้แก่ ดร.ประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผศ.ดร.ประเวช รัตนเพียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ดร.วาชิต รัตนเพียร ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ และรศ.ดร.วิชุดา รัตนเพียร  ส.ว.ทั้งนี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ส.ส.ตราด 4 สมัย ส.ส.นนทบุรี 2 สมัย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และด้านการกีฬา อดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการในคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ขณะที่ด้านการศึกษา เคยเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพณิชยการเอกชนแห่งแรก พ.ศ. 2505 คือ โรงเรียนดุสิตพณิชยการ และเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (RBAC).

Blog Archive