Sunday, December 30, 2012

ส.ว.สายเลือกตั้ง ขอปลดล็อก แก้รธน. ม.111

ส.ว.สายเลือกตั้ง ขอปลดล็อก แก้รธน. ม.111
ส.ว.สายเลือกตั้ง เดินเครื่องเต็มสูบแก้รัฐธรรมนูญ​ นัดถกหลังปีใหม่ 7 ม.ค. เน้นแก้รายมาตรา โดยเฉพาะประเด็น ม.111 ปลดล็อก ส.ว.ลงเลือกตั้งได้ 2 สมัยติดต่อกันโดยไม่ต้องเว้นวรรค... นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่าแนวทางวุฒิสภา หลังจากศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ยังเห็นว่าไม่มีความชัดเจน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะให้ลงมติวาระ 3 เลยก็อันตราย และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกชี้มูลความผิดอีก และเชื่อว่าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าแก้ให้ใคร แก้เพื่ออะไร ดังนั้นในส่วนของ ส.ว.สายเลือกตั้ง ได้นัดหารือนอกรอบในวันที่ 7 ม.ค.2556 โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ให้เป็นอีกทางเลือกของรัฐสภา เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชน เพราะเราเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มาดำเนินการนั้น ไม่น่าจะเดินไปสู้เป้าหมายได้ อาจเกิดความขัดแย้ง เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอีก วันนี้ถือว่าพบทางตัน นายสุรชัยกล่าวว่า ดังนั้นในการหารือจะยกประเด็นที่ควรเร่งแก้ไขก่อน อาทิ มาตรา 190 เกี่ยวกับการขอความเห็นชอบร่างสนธิสัญญา มาตรา 111 การปลดล็อก ส.ว.ให้ลงรับเลือกตั้งได้ติดต่อกันโดยไม่ต้องเว้นวรรค มาตรา 116 เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาห้ามมิให้ ส.ว. ที่ยังไม่พ้นจากวาระเกิน 2 ปี เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 265-266 เกี่ยวกับข้อห้ามการกระทำ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของ ส.ส. ส.ว. เพราะเชื่อว่า ส.ส.และ ส.ว.ย่อมรู้ถึงปัญหาประชาชนในแต่ละพื้นที่ดี จะช่วยแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น หรือมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค วันนี้แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาจพบกับทางตัน อาจทำให้กระบวนการทำประชามติเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นพวกเราจึงเห็นว่าสภาสูงควรแสดงบทบาทเสนอทางออกให้กับบ้านเมือง     ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า จะมีการถกเถียงกันทุกประเด็นปัญหา โดยจะหยิบยกมาตราที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนขึ้นมาก่อน ซึ่งขณะนี้เท่าที่หารือร่วมกับ ส.ว.สายสรรหาบางส่วน ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ยืนยันว่าที่เราทำไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เราต้องการแก้ไขให้กติกาต่างๆ เข้ารูปเข้ารอย เพราะหากเราไม่ผลักดัน ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำจริงจังแค่ไหน เพราะวันนี้ในพรรคเพื่อไทยเองยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่

ดุสิตโพลเผย ดัชนีการเมืองไทย 55 ภาพรวมได้ 5.18 คะแนน

ดุสิตโพลเผย ดัชนีการเมืองไทย 55 ภาพรวมได้ 5.18 คะแนน
ดัชนีการเมืองไทย ตลอดปี 2555 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 5.18 คะแนน อันดับ 1 ผลงานของนายกรัฐมนตรี 5.99, อันดับ 2 ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ 5.75...เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ตรวจสอบภาพรวม ดัชนีการเมืองไทย ตลอดปี 2555 เป็นรายเดือนตลอดปี ประกอบด้วยตัวชี้วัดรวม 25 ประเด็น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าการเมืองไทยดีขึ้น แย่ลง หรือเหมือนเดิมในแต่ละเดือน โดยเปรียบเทียบเดือนต่อเดือน ทุกวันที่ 25 ของเดือน จากคะแนนเต็ม 10 และหาค่าเฉลี่ย (EMBED Equation.3) ซึ่งในปี 2555 สวนดุสิตโพลได้รวบรวมผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 81,211 คน สรุปผลภาพรวมดัชนีการเมืองไทยตลอดปี 2555 ได้ดังนี้ประชาชนให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยตลอดปี 2555 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 5.18 คะแนน โดยประชาชนให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยในแต่ละเดือนคะแนนเต็ม 10 ดังนี้ เดือนมกราคม 5.07 คะแนน, เดือนกุมภาพันธ์ 5.25 คะแนน, เดือนมีนาคม 5.23 คะแนน, เดือนเมษายน 5.12 คะแนน, เดือนพฤษภาคม 5.32 คะแนน, เดือนมิถุนายน 5.07 คะแนน, เดือนกรกฎาคม 5.15 คะแนน, เดือนสิงหาคม 5.08 คะแนน, เดือนกันยายน 5.23 คะแนน, เดือนตุลาคม 5.14 คะแนน, เดือนพฤศจิกายน 5.24 คะแนน, เดือนธันวาคม 5.26 คะแนนอย่างไรก็ดี เดือนพฤษภาคมมีคะแนนดีที่สุด 5.32 ซึ่งในเดือนดังกล่าวมีเหตุการณ์ทางการเมือง กรณีที่บ้านเลขที่ 11 พ้นโทษ 5 ปี รัฐบาลตรึงราคาสินค้า และการปราบปรามยาเสพติด ขณะที่เดือนมกราคมและเดือนมิถุนายน มีคะแนนน้อยที่สุดเท่ากัน 5.07 เนื่องจากในเดือน ม.ค. รัฐบาล
มีการปรับ ครม.ท่ามกลางกระแสที่ขัดแย้ง นักการเมืองติดแบล็กลิสต์ และในเดือน มิ.ย. ศาล รธน. ตีความการแก้ไข รธน. นาซาสนใจสนามบินอู่ตะเภาทั้งนี้ ภาพรวมดัชนีการเมืองไทยตลอดปี 2555 ที่มีคะแนนสูงสุด อันดับ 1 ผลงานของนายกรัฐมนตรี 5.99, อันดับ 2 ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ 5.75, อันดับ 3 ผลงานของรัฐบาล 5.73, อันดับ 4 การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 5.59 และอันดับ 5 การจัดการศึกษาสำหรับประชาชน 5.56 ขณะที่ภาพรวมดัชนีการเมืองไทยตลอดปี 2555 ที่มีคะแนนต่ำสุดที่ยังฉุดและแก้ไม่ตก อันดับ 1 การแก้ปัญหาคอรัปชัน 4.33, อันดับ 2 การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 4.56, อันดับ 3 การปฏิบัติตนของนักการเมือง /ความสามัคคีของนักการเมือง 4.57, อันดับ 4 การแก้ปัญหาความยากจน 4.64 และอันดับ 5 ราคาสินค้า 4.65.

ปธ.วิปค้าน จี้ นายกฯ ทบทวนแก้รธน.

ปธ.วิปค้าน จี้ นายกฯ ทบทวนแก้รธน.
ประธานวิปฝ่ายค้าน จี้ นายกรัฐมนตรี ทบทวนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง... นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์การเมืองใน 2556 ได้ ว่าจะไปสู่ทางตันของรัฐบาลและของประเทศหรือไม่ แต่ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ทบทวนนโยบายที่จะเป็นปัจจัยสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรีระบุชัดเจนว่า หากทำประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า มีเป้าหมายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามทั้งนี้มองว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ค่อยฟังเสียงของประชาชนมากนัก แต่เป็นไปในลักษณะการชะลอ และประวิงเวลาเรื่องต่างๆ ออกไปเท่านั้น โดยมีสิ่งเดิมพันที่มีมูลค่าสูง ทั้งเรื่องการล้างผิด การคืนเงิน ซึ่งสุดท้ายจะเป็นปัญหาที่สะสมของรัฐบาลจี้ นายกรัฐมนตรี ปรับพฤติกรรม เพิ่มวุฒิภาวะนายจุรินทร์ยังได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปรับพฤติกรรมการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ด้วยการแสดงถึงความมีวุฒิภาวะตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาให้มากขึ้น เพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคนไทยทั้งประเทศในปี 2556 พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องการทำหน้าที่ของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้มีความเข้มแข็ง เป็นกลาง เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อคนบางกลุ่มเท่านั้นส่วนการทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเต็มที่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาฝ่ายค้านได้ร่วมโหวตผ่านกฎหมายหลายฉบับ มีเพียง 2 - 3 ฉบับเท่านั้น ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ เช่น กฎหมายปรองดอง และการแก้รัฐธรรมนูญ โดยในปีหน้าฝ่ายค้านจะเน้นตั้งกระทู้ถามมากขึ้น เพื่อเสนอความเดือดร้อนของประชาชนต่อรัฐบาล

สมศักดิ์แอ่นอกรับ แยกทางอนุทิน-เนวิน ปัดขัดแย้ง

สมศักดิ์แอ่นอกรับ แยกทางอนุทิน-เนวิน ปัดขัดแย้ง
สมศักดิ์ แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ระบุชัด แยกทางเดินกับกลุ่ม อนุทิน และ เนวิน จริง แต่ไม่ขัดแย้ง ยังให้เกียรติซึ่งกันและกัน ปัดเข้าร่วมรัฐบาลเพราะยังเป็นฝ่ายค้าน ไม่เหมาะสม แต่มีความรู้สึกที่ดีเอาใจช่วยรัฐบาล ย้ำไม่สนแก้ รธน. ชี้ปรองดองต้องให้อภัยกันอย่ารื้อฟื้น หนุน ตู่ เป็นอำมาตย์...นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง จุดยืนทางการเมืองของกลุ่มมัชฌิมา ว่า วันนี้กลุ่มมัชฌิมาเป็นอิสระ ได้ทำความเข้าใจกับหลายๆ ส่วนแล้ว จะไม่ทำให้ใครต้องหนักใจ เพราะจะเดินทางการเมืองในทิศทางที่สร้างสรรค์ ยึดคำมั่นสัญญา คำพูด ซึ่งนิสัยใจคอของคนมัชฌิมาสายกลางอยู่แล้ว จะให้ออกมายืนตะโกนด่าใคร เชียร์ใครชมใครคงไม่ทำ จะไม่ให้ใครเอาเปรียบใคร ส่วนกระแสข่าวการร่วมรัฐบาลนั้น การที่ตอนนี้ยังเป็นฝ่ายค้านคงไม่เหมาะสม เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดี ที่เอาใจช่วยรัฐบาล อยากให้บุคลากรของชาติ ทรัพยากรที่ถูกใช้ไปได้อย่างคุ้มค่า เพราะการเลือกตั้งบ่อยๆ ไม่ดี มันสิ้นเปลืองทั้งนี้ กลุ่มมัชฌิมาไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ปฏิเสธเรื่องของการปรองดอง อะไรที่จะต้องลดทอนหรือให้อภัยกันด้วยเหตุผล อะไรที่เป็นเหตุเป็นผลพยายามทำให้จบ ไม่พยายามที่จะไปรื้อฟื้นจนเกิดความร้าวฉาน แต่มัชฌิมามีจำนวนเล็กน้อยจะเป็นผู้นำทางนี้ไม่ได้ ส่วนกระแสข่าวการขัดแย้งกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  และนายเนวิน ชิดชอบ ยืนยันไม่มีความขัดแย้ง เพราะต่างคนต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่เป็นปัญหาต่อกัน แต่การทำงานทางการเมือง เราได้แยกกันเดินจริงตามที่เป็นข่าวส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป เชื่อว่ารัฐบาลคงจัดสัดส่วน ให้เสื้อแดงเข้าไปเพราะเป็นวิถีทางอันหนึ่ง เพราะเสื้อแดงเป็นฝ่ายที่ออกแรงมากพอสมควร คิดว่ามันยุติธรรม อาจจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ เพราะการเมืองคือการทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุข กลุ่มผลประโยชน์ในแต่ละกลุ่มในพรรคการเมืองให้มีความสุขโดยทั่วหน้าก็จะอยู่ได้ ทั้งนี้ หากมีการเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรี เอานายจตุพร พรหมพันธ์ุ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าไปก็จบแล้ว และที่ผ่านมาไม่มีการนำชื่อเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ นายจตุพรก็หันกลับไปทะเลาะอำมาตย์อีก.

ปชป.ขอรัฐบาล 9 ข้อ ของขวัญปีใหม่ไทย

ปชป.ขอรัฐบาล 9 ข้อ ของขวัญปีใหม่ไทย
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ขอรัฐ 9 ข้อของขวัญปีใหม่ ไม่สองมาตรฐานบังคับใช้กฎหมาย แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ...เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่นี้ตนขอของขวัญ 9 ข้อคือ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรี กล้าตัดสินใจเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ทำผิด หรือฝ่าฝืนคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายอาญา 2.ขอให้ยุติสนับสนุนการใช้กำลังข่มขู่ จัดตั้งมวลชนคุกคามองค์กรอื่นที่เห็นต่าง 3.ขอให้เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน ไม่มีสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย และขอให้สนับสนุนทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมควรเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม นายชวนนท์ กล่าวต่อไปว่า 4.ขอให้ละทิ้งปัญหาทางการเมือง หันมาใส่ใจปัญหาปากท้องประชาชน 5.ขอให้แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างจริงจัง 6.ขอให้ทบทวนการกู้เงินมาจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง กลายเป็นกู้มาโกง 7. ขอให้เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 8.ขอให้แก้ไขและป้องกันการทุจริตคอรัปชันอย่างจริงจัง และ 9. ขอให้เตรียมพร้อมประเทศเข้าสู้ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า.

ปู่พิชัยสงสารนายกฯ ชี้แก้รธน.-ไฟใต้ ทำการเมืองปี56ร้อนแรง

ปู่พิชัยสงสารนายกฯ ชี้แก้รธน.-ไฟใต้ ทำการเมืองปี56ร้อนแรง
นายพิชัย รัตนกุล กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ รธน.-ไฟใต้ทำปี 56 แรง ยันพรรคส่ง สุขุมพันธ์ ลงผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย เหมาะที่สุด ขณะที่จี้ “อภิสิทธิ์” ทาบทามคนเก่าแก่ช่วย ปชป. ...เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายพิชัย รัตนกุล กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองปี 2556 ว่า การเมืองไทยคงยังไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นในทางที่ดีขึ้น หรือร้ายแรงเหมือนกับปี 2555 แต่เรื่องที่จะทำให้ขัดแย้งได้คือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ภายในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังหาข้อตกลงไม่ได้ ตนอยากเห็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมีเอกภาพเรื่องรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนจะได้รู้ว่าแนวทางของรัฐบาลจะไปในทิศทางใด และรู้สึกสงสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องหาความเป็นเอกภาพให้ได้ เพื่อจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองต่อไปขณะเดียวกัน รู้สึกเป็นห่วงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หากรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันแล้ว จะมีความรุนแรงมากขึ้น แม้จะใกล้กับการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีแล้ว เหตุการณ์จะสงบนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงอยากให้ในปี 2556 รัฐบาลกับฝ่ายค้านควรนำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ นายพิชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จะลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกสมัย ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็อยู่ที่ประชาชน ซึ่งกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค กับกลุ่ม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค คนปัจจุบันนั้น เห็นว่าตนรู้จักกับนายสุเทพ แต่ไม่รู้จักนายเฉลิมชัย เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไร เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ นายพิชัย ตอบว่า นายอภิสิทธิ์ทำงานเต็มที่แล้ว คงดูแลพรรคได้ไม่มีปัญหา ภายในพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นเอกภาพ หากมีเรื่องขัดแย้งก็เป็นเรื่องเล็กน้อย การทำงานของนายอภิสิทธิ์ควรพิจารณานำคนเก่าๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคมาใช้งานมากขึ้น เช่น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ที่จะหมดวาระในวันที่ 31 ธ.ค. ก็ควรเชิญมาเป็นที่ปรึกษาพรรค รวมทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ถือว่าเป็นคนมีฝีมือ ควรหางานให้ทำเพิ่มขึ้น หรือนายสาวิตต์ โพธิวิหค นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ที่นายอภิสิทธิ์ ควรให้คนเหล่านี้มาช่วยงาน จะสามารถฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ได้มากขึ้น และต้องฟังคนกลุ่มนี้ด้วย.

Blog Archive