Tuesday, April 23, 2013

โฆษกศาลรธน.ไม่กังวล เสื้อแดง ขู่ปิดที่ทำการ

โฆษกศาลรธน.ไม่กังวล เสื้อแดง ขู่ปิดที่ทำการ
โฆษกสำนักงานศาล รธน. เผย กลต.รธน.ยังไม่พิจารณาคำร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก้ ม.68 ขัดรธน.ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พรุ่งนี้ เหตุยังไม่มีวาระการประชุม ยัน ไม่กังวลกลุ่มเสื้อแดง ขู่ ปิดศาลพรุ่งนี้วันที่ 23 เม.ย. 2556 นายกมล โสตถิโภคา โฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึง กรณีคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ที่ร้องว่า การแก้ไขมาตรา 68 ขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ว่า คณะตุลาการ ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาในคำร้องดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ในวาระการประชุมตุลาการ เพราะยังไม่การประชุมในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.)ส่วน กรณี ส.ส.เพื่อไทยและ ส.ว. 312 คน ที่ลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะส่งหนังสือไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาของศาลนั้น นายกมล เชื่อว่า เรื่องนี้ทางตุลาการคงต้องรอดูหนังสือเปิดผนึกดังกล่าวก่อน ว่ามีความต้องการ และวัตถุประสงค์อย่างไร แล้วจึงจะมาพิจารณาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กังวลกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หน้าศาล เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อย ส่วนการที่ผู้ชุมนุมขู่จะปิดศาลในวันพรุ่งนี้ หากศาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง นั้น ตนมองว่า เป็นเพียงการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ที่ต่างคนต่างแสดงความเห็นที่แตกต่างกันแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในช่วงวันนี้  23 เม.ย. ตุลาการ ได้มีการพุดคุยกันถึงกรณีที่ ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ว.จะยื่นแถลงการณ์ ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาชี้แจง ให้ประชาชนเข้าใจ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตามที่ ส.ส.และ ส.ว.ไม่รับอำนาจศาล และจะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในดคีแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น น่าจะไม่เป็นผลดี กับผู้ถูกร้องมากกว่า โดยได้มีการยกกรณี ที่มีการฟ้องคดีในศาลแพ่งแล้ว จำเลยไม่โต้แย้ง ว่า ศาลก็ยังเดินหน้าพิจารณาคดี และไม่ต้องออกมาชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมศาลพิจารณาโดยไม่มีคำชี้แจงของอีกฝ่าย ทั้งนี้ ในการพูดคุย มีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การที่ ส.ส.และ ส.ว.จะไม่รับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้ว่า เป็นการอ้างบทบัญญัติข้อใด ในรัฐธรรมนูญ เพราะหากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกไป รัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมทั้งรัฐสภาต้องปฏิบัติตาม.

ครม.ไฟเขียว ต่อยอดประหยัดพลังงาน-ปรับถนนเบตง-ยะลา

ครม.ไฟเขียว ต่อยอดประหยัดพลังงาน-ปรับถนนเบตง-ยะลา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ สั่ง ต่อยอดประหยัดพลังงาน ไฟเขียว คค.ปรับถนน เบตง-ยะลา พร้อมขอบคุณ ทีมงานพระวิหารวันที่ 23 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าในการประชุม ครม.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อย และมาตรการประหยัดพลังงานในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพลังงานและรัฐบาลได้ร่วมมือทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ โดยนายกฯ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยประหยัดพลังงานต่อไป ไม่ใช่แค่ช่วงที่เกิดวิกฤติพลังงานในประเทศเท่านั้น รวมถึงการรณรงค์การใส่ผ้าไทยนพ.ทศพร กล่าวอีกว่า ในการประชุม ครม.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งรัดการทำงานทุกกระทรวงในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระดับนโยบายให้ดำเนินการผ่านศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์และแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เพื่อให้ทุกเรื่องลงไปในพื้นที่อย่างแท้จริง และมอบให้กระทรวงคมนาคมทำการปรับปรุงเส้นทางสายเบตง-ยะลา ที่พบว่ามีการก่อเหตุหลายครั้งอย่างไรก็ตาม  นพ.ทศพร ยังเปิดเผย อีกว่า นายกฯ กล่าวแสดงความขอบคุณรัฐมนตรีทุกคนที่ได้ช่วยกันทำงานมาตลอดในการแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีปราสาทพระวิหาร รวมถึงคณะดำเนินการต่อสู้คดีประเทศกัมพูชายื่นร้องต่อศาลโลก เพื่อให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ.

โพลเอแบค ชี้ 61.7% เชื่อ ไทยมีความพร้อม รับประชาคมอาเซียน

โพลเอแบค ชี้ 61.7% เชื่อ ไทยมีความพร้อม รับประชาคมอาเซียน
โพลเอแบค ชี้ 61.7% เชื่อไทยมีความพร้อมเปิดรับประชาคมอาเซียน ขณะที่ 24.8% ให้ความสำคัญพัฒนาการศึกษา ส่วน “สิงคโปร์” ประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุดวันที่ 24 เม.ย. นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในสายตาชาวกรุง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,525 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.7 ระบุ คนไทยมีความพร้อมต่อการรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียน ส่วนร้อยละ 33.4 ระบุว่ายังไม่พร้อม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 80.3 ระบุว่า ผู้นำประเทศควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพบว่า ห้าอันดับแรกของสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 24.8 ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ อันดับสองหรือร้อยละ 23.6 ได้แก่ ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ อันดับสามหรือร้อยละ 18.2 ได้แก่การส่งเสริมวิชาชีพชำนาญการและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อันดับสี่หรือร้อยละ 14.4 ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุน และอันดับห้าหรือร้อยละ 7.6 ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับที่น่าสนใจคือสามอันดับแรกของประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมและศักยภาพมาก ที่สุดในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสายตาของกลุ่มตัวอย่าง สามอันดับแรกได้แก่ อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 34.5 ระบุสิงคโปร์ อันดับสองหรือร้อยละ 25.7 ระบุไทย และอันดับสามหรือร้อยละ 9.8 ระบุมาเลเซีย ตามลำดับนางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ประชาชนเล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของทั้งประชาชนและประเทศ โดยภาพรวมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ถิ่นทุรกันดารซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นไปที่บริเวณชุมชนเมือง นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้าสู่สังคมนานาชาติ ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของไทยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน อย่างไร ก็ตามสิ่งที่สำคัญคือผู้ใหญ่ของประเทศก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุและผลในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง

Blog Archive