Saturday, January 26, 2013

ปชป.ยก3เหตุผลโต้สุรพงษ์ปมพระวิหาร

ปชป.ยก3เหตุผลโต้สุรพงษ์ปมพระวิหาร
                      26 ม.ค.56 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้นำคำพูดของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า การที่ไทยต้องขึ้นศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร เป็นเพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่ยอมให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นว่า เรื่องที่รมว.ต่างประเทศพูดนั้นถูกต้อง แต่ตนขอพูดต่อถึงสาเหตุที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องดำเนินการนั้น เป็นเพราะ 1. รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องการที่จะปกป้องดินแดนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกัมพูชาพยายามที่จะครอบครอง จึงเป็นเหตุให้กัมพูชาไม่พอใจและนำไปสู่การยื่นศาลโลก โดยต้องการที่จะครอบครองพื้นที่ดังกล่าวเพียงประเทศเดียว ขอถามว่าเหตุที่พูดเข้าข้างและเห็นกัมพูชาดี เป็นเพราะจะยกพื้นที่ดังกล่าวให้ด้วยหรือไม่ 2 .เรื่องพื้นที่ทางทะเลที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยกเลิกเรื่องเส้นเขตแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยเสียประโยชน์ และเป็นการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำให้กัมพูชาไม่พอใจ                       “ถ้าไม่มีพรรคประชาธิปัตย์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ 1. กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนพระวิหารได้โดยสมบูรณ์ 2.พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรก็จะเป็นของกัมพูชา โดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการมรดกโลก และ 3 .ใช้แผนที่ทางทะเลฮุบเอาทรัพยากรประเทศ และอาจจะดำเนินการในการให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตนจึงขอถามไปยังประชาชนว่า ระหว่าง 3 สิ่งที่ตนได้กล่าวมา กับการดำเนินการเพื่อปกป้องความสงบ ปกป้องแผ่นดิน และทรัพยากรประชาชนจะเลือกเอาแบบไหน   'ปชป.' ขอบคุณปชช.ร่วมฟังปราศรัย 'เปิดยุทธศาสตร์ 16 ข้อ'                         นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรก ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อช่วยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นปราศรัยใหญ่ครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ร่วมรับฟัง โดยเมื่อวานนี้ถือเป็นเป็นวันแรกที่มีการเปิดยุทธศาสตร์16 ข้อ ซึ่งหวังว่า ประชาชนจะเห็นว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พรรคมีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม และหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ได้รับการคัดเลือก ก็จะสานงานเหล่านั้นต่อได้ทันที นี่จึงถือเป็นเป็นคำมั่นสัญญาที่พรรคได้ให้ไว้กับประชาชน                       โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยปราศรัยนั้น เราได้พูดมาแต่ต้นว่าอยากให้การแข่งขันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ นำเสนอนโนบายที่มีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยกลับใช้วิธีการโจมตี ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยใช้นโยบายหาเสียงให้สร้างสรรค์มากกว่าที่จะมาโจมตีใส่ร้าย เพื่อให้พี่น้องได้รับประโยชน์สูงสุด                       ส่วนกรณีที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย มีการยกนโยบายที่อยู่นอกอำนาจผู้ว่ากทม.นั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้ใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่มาจับประชาชนเป็นตัวประกัน เช่น กรณีรถเมล์ฟรี เรือฟรีนั้น หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคิดว่ามีความพร้อมในนโยบายดังกล่าวจริงตนขอถามว่า เหตุใดที่ผ่านมาจึงไม่ทำ และขอเรียกร้องว่าให้ทำเดี๋ยวนี้ หรือว่าประชาชนจะได้รับการดูแล ก็ต่อเมื่อเลือกคนของเพื่อไทยเป็นผู้ว่ากทม.เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะตรงกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดในการหาเสียงว่า ถ้าจังหวัดไหนเลือกส.ส.ของพรรคเพื่อไทยก็จะช่วยจังหวัดนั้นก่อน ตนมองว่าการทำเช่นนี้ถือว่าไม่ได้ใช้หลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อีกทั้งในการแข่งขัน รัฐบาลไม่ควรสร้างแต้มต่อ จึงอยากเรียกร้องให้ต่อสู้ด้วยกติกาบริสุทธิ์ยุติธรรม                       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลโดยพบว่า มีการย้ายประชาชนจากพื้นที่นอกกทม.เข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านในกทม. เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ได้นั้น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้พรรคได้ให้ส.ส.ของพรรคเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และหากมีการดำเนินการดังกล่าวจริงก็ต้องมาดูว่าการย้ายประชาชนจากนอกพื้นที่เข้ามาอยู่ทะเบียนบ้านในกทม. มีการดำเนิการอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ส่วนที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า จะระดมส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสานมาช่วยหาเสียงนั้นเห็นว่า สิทธิที่สามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องไม่มีการปราศรัยโจมตี   'ปชป.' จี้ทีมศก.รัฐบาลช่วยSME หลังค่าเงินบาทแข็ง                         นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นห่วงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ค่าเงินทางแข็งค่าขึ้นมากเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ทำให้การแข่งขันโดยเฉพาะการส่งออก ของเอกชนไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นนั้นเกิดจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุ่มเงินดอลล่าห์ลงมาในตลาดมาก ทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงและมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงอีก เพราะฉะนั้นอยากเรียกร้องรัฐบาลว่า ให้มีมาตรการดูแลภาคเอกชนธุรกิจส่งออกที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเป็นระเบิดอีกลูกที่ทิ้งลงมายังเศรษฐกิจไทย ตามระเบิดลูกแรก คือ ค่าเงิน 300 บาท                       อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาล 7 ข้อแล้ว ตนอยากให้นายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง เอาใจใส่ พิจารณาข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ว่าประเด็นใดบ้างที่จะสามารถดูแลแก้ไขและปฏิบัติได้ทันที จึงอยากเรียกร้องให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แก้ไขป้องกันเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน        

พงศพัศลุยหาเสียงตลาดหนองจอก

พงศพัศลุยหาเสียงตลาดหนองจอก
                    26 ม.ค.56 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่หาเสียงที่เขตหนองจอก โดยเริ่มจุดแรกที่ตลาดหนองจอก ซึ่งได้รับความสนใจจากพ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ที่มาร่วมพูดคุยและขอถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก จากนั้นได้เดินทางไปพบปะและรับฟังปัญหากับประชาชนและผู้นำชุมชนที่บ้านนายภักดี มะแอ ประธานชมรมผู้บริหารมัสยิดเขตหนองจอก พร้อมทั้งปราศรัยถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตหนอกจอก โดยเฉพาะการจราจรว่า ต้องยอมรับว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่กว้าง ดังนั้นหากปรับระบบการเดินรถเมล์ในเมืองแล้วจะสามารถกระจายรถเมล์ให้เข้าถึงพื้นที่หนองจอกได้เพิ่มขึ้น และสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบการขนส่งในเมืองได้โดยสะดวก                     นอกจากนี้ยังมีนโยบายพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มีความสะดวกมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาเร่งด่วน จะใช้นโยบายเหมือนการทำบ้านอุ่นใจ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมและคืนลูกหลานให้กับครอบครัว ทั้งนี้ขอโอกาสในการเข้ามาทำงานบริหารกทม.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น                     จากนั้นเวลา 09.30 น. พล.ต.อ.พงศพัศ เดินทางไปพบนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่ศูนย์บริหารกิจการอิสลามแห่งชาติเฉลิมเกียรติ โดยได้หารือถึงปัญหายาเสพติดที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงนโยบายการในการทำงานด้วย ทั้งนี้นายอาศิสกล่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศเป็นคนตั้งใจทำงาน เชื่อว่าเตรียมการทำงานมาพร้อมแล้ว จากนั้นจุฬาราชมนตรีได้สวดดูอาเพื่อให้พรด้วย                     พล.ต.อ.พงศพัศ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่ตลาดสดหลายแห่งนั้น พบปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งตนเคยนำเรื่องดังกล่าวบอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์แล้ว อย่างไรก็ตามเรามีนโยบายสร้างตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มทั้ง 50 เขต เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยจะเช่าพื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และจะไม่เก็บค่าเช่าแผง เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายสินค้าได้ในราคาถูก และให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน   'พงศพัศ' ร่วมปั่นจักรยานประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์                       พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทย เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1 และรับหนังสือเชิญเข้าร่วมกิจกรรม "ปลุก ปั่น เปลี่ยน" ซึ่งเป็นกิจกรรมภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ที่จะเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มาเสวนาถึงนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ขี่รถจักรยานสามารถใช้เดินทางในชีวิตประจำวันได้ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์                     ทั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศตอบรับคำเชิญดังกล่าวพร้อมกับระบุว่า มีนโยบายที่จะทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทางสำหรับรถจักรยาน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดปรับปรุงฝาครอบท่อน้ำทิ้งถนน จากเดิมที่เป็นซี่ให้เป็นแบบทึบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานด้วย จากนั้นพล.ต.อ.พงศพัศได้ร่วมปั่นจักรยานพร้อมกับนายปริญา เทวานฤมิตรกุล รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนักศึกษา ไปรอบๆ บริเวณมหาวิทยาลัย        

ปชช.ตั้งใจเลือกพงศพัศเป็นผู้ว่าฯ

ปชช.ตั้งใจเลือกพงศพัศเป็นผู้ว่าฯ
               26 ม.ค.56 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ใครเลือกใครกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ใครเลือกใคร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,766 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7                เมื่อถามถึงใครเลือกใครกลุ่มที่ 1 เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ชายร้อยละ 42.9 และหญิงร้อยละ 40.8 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ ชายร้อยละ 36.0 และหญิงร้อยละ 39.2 ตั้งใจจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ พิจารณาได้ในตารางที่ 1 ใครเลือกใครกลุ่มที่ 2 เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มคนที่ตั้งใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ มากที่สุดอยู่ในช่วงระหว่างอายุ 40- 49 ปีคือร้อยละ 45.2 รองลงมาคือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้ร้อยละ 43.0 และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 42.4 ที่ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 39.9 ที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีอยู่ร้อยละ 38.6 และร้อยละ 38.4 ตามลำดับที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร                ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ใครเลือกใครกลุ่มที่ 3 เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 44.0 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในขณะที่ กลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 41.5 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทิ้งห่าง พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ได้ร้อยละ 36.7 นอกจากนี้ จุดน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ กลุ่มที่สูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.7 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ในกลุ่มการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมากถึงร้อยละ 22.2 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และร้อยละ 25.9 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์                ใครเลือกใครกลุ่มที่ 4 เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มคนว่างงาน ไม่มีงานทำส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.0 รองลงมาคือ กลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุร้อยละ 49.0 กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 47.3 กลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 41.8 และกลุ่มค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 40.7 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์จะได้ความนิยมสูงสุดในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 41.6 และกลุ่มนักศึกษาร้อยละ 42.3                ใครเลือกใครกลุ่มที่ 5 เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบประเด็นความชัดเจนว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่กลุ่มคนมีรายได้สูงตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยพบว่า กลุ่มคนมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 44.4 กลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 5,001- 10,000 บาทร้อยละ 40.7 และกลุ่มคนรายได้ระหว่าง 10,001 - 15,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 45.5 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ กลุ่มคนรายได้ระหว่าง 15,001 - 20,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 40.4 และกลุ่มรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 41.0 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์                ดร.นพดล กล่าวต่ออีกว่า ที่น่าพิจารณา คือ ใครเลือกใครกลุ่มที่ 6 เมื่อจำแนกตามพรรคการเมืองที่เลือก สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ถ้าเงื่อนไขของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เหมือนการเลือกตั้ง สส. ทั้งในแง่ จำนวนผู้ใช้สิทธิไม่น้อยกว่าเดิมคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และคนที่เคยเลือก สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเลือก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ สูงถึงร้อยละ 77.4 ในผลสำรวจครั้งนี้ จะส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะชนะการเลือกตั้งเป็น ผู้ว่ากทม.ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยได้คะแนนนิยมเลือก สส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงถึง 1.3 ล้านเสียงและอาจจะได้ประมาณ 1 ล้านคะแนนเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.                ดังนั้น ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นชักชวนคนกรุงเทพฯ เกาะฐานเสียง สส. เอาไว้ให้มั่นว่า                “คนเคยเลือก ปชป. เลือกเบอร์ 16” หรือ “รัก ปชป. เลือกเบอร์ 16” อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตคือ กลุ่มคนที่เคยเลือก สส. กรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์กำลังกระจายตัวออกไปเลือก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ จำนวนมาก ในขณะที่ คนที่เคยเลือก สส. กรุงเทพฯ ของพรรคเพื่อไทยครั้งก่อนก็กระจายตัวออกไปเลือก ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. คนอื่นพรรคอื่นแต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า                “นอกจากนี้ โอกาสที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. มีมากเช่นกัน เพราะประชาชนที่เคยเลือก สส. พรรคเพื่อไทยในกรุงเทพมหานครครั้งก่อนมีสูงถึง 1.2 ล้านคน และคนที่เคยเลือก สส.พรรคเพื่อไทยจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ครั้งนี้สูงถึงร้อยละ 82.4 หรือเฉียด 1 ล้านเสียงเช่นกัน และประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมารวมตัวกับกลุ่มประชาชนที่ไม่ระบุพรรคที่เคยเลือกมีถึงร้อยละ 32.8 ที่จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่น่าพิจารณาคือ ชักชวนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยเลือก พงศพัศ แบบเกาะติดและคนไม่เลือก สส. ครั้งก่อนให้เลือกเบอร์ 9 นอกจากนี้ ผู้สมัครอิสระที่น่าสนใจคือ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เพราะจะได้เสียงของคนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 56.5 ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่น่าพิจารณาคือ “เบื่อพรรคการเมืองใหญ่ เลือก เสรี” ในขณะที่ ผู้สมัครท่านอื่นๆ คงต้องพยายามทำให้ชาวบ้านเห็นว่านโยบายของผู้สมัครมีความเป็นไปจริงให้กับคน กทม. ได้เช่นกัน” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว                จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.4 เป็น ร้อยละ 48.6 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 17.7 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 23.0 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 22.2 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 32.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 1.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 28.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.6 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 11.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 9.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 0.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ   "สวนดุสิตโพล"ระบุ คนกรุงส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯจากนโยบาย                มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำโพลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง การหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ในสายตาคนกรุงเทพ โดยสอบถามความคิดเห็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,139 คน เกี่ยวกับผู้สมัครที่ลงพื้นที่หาเสียงในเขตต่าง ๆ ของ กทม. ซึ่งมีทั้งทีมงานและรูปแบบการหาเสียงที่แตกต่างกัน โดยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือก ผู้ว่าฯกทม. อันดับ 1 คือ นโยบายและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ร้อยละ 46.20 อันดับ 2 ดูจากผู้สมัคร หรือ พรรค ร้อยละ 17.74 อันดับที่ 3 คือ ภาพลักษณ์ที่ดี ร้อย 13.91 ส่วนสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากบอกผู้สมัครฯ ที่กำลังหาเสียงอยู่ในขณะนี้ อันดับแรกคือ นโยบายทำได้จริง ไม่พูดในสิ่งที่ทำไม่ได้ ร้อยละ 35.04 อันดับ 2 อยากเห็นกรุงเทพฯ เจริญทุกด้าน ร้อยละ 21.56 และอันดับ 3 อยากเห็นการเลือกตั้งโปร่งใส ไม่ซื้อเสียง ร้อยละ 19.13                เมื่อสอบถามแบบเจาะลึกถึงความชอบในการหาเสียงของผู้สมัครฯ แต่ละคนอย่างไร พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีนโยบายที่ทำได้จริง และสุภาพ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีนายกฯ ช่วยหาเสียง คล่องแคล่วเป็นกันเอง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นคนตรง น่าเชื่อถือ นายโฆษิต สุวินิจจิต เป็นกันเอง นโยบายน่าสนใจ และนายสุหฤท สยามวาลา แปลกแหวกแนว สร้างสรรค์ เน้นเทคโนโลยี  

Blog Archive