Thursday, January 17, 2013

โอกาสของผู้สมัครอิสระชิงผู้ว่าฯกทม.

โอกาสของผู้สมัครอิสระชิงผู้ว่าฯกทม.
             การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2552 มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 4.1 ล้านคน แต่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้นเพียง 2.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ  51.1              อีกกว่า 2 ล้านคน ไม่ออกมาใช้สิทธิ์              มีความพยายามกระตุ้นคนที่ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่รู้สึกว่าสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองนั้นเป็นอย่างไรอย่างต่อเนื่อง              นักวิชาการถึงกับใช้คำเรียกที่หรูหรา น่าชื่นชมแทนคนกลุ่มนี้ว่า "พลังเงียบ" เสียด้วยซ้ำไป              การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุด ในจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์นั้น แบ่งเป็นผู้ที่เลือกผู้สมัครจาก พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 9.3 แสนคน เลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย จำนวน 6.1 แสนคน เลือกผู้สมัครอิสระและงดออกเสียง จำนวน 5.6 แสนคน              จากคะแนนเสียงของทั้ง 2 พรรครวมกันแล้วได้ 1,540,000 คน ประมาณว่าเป็นฐานเสียงที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 5 แสนคน เป็นฐานเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย 5 แสนคน              ส่วนอีก 5.4 แสนคน เลือกตามกระแสนิยม !              ตรงนี้นี่เองที่ทำให้เกิดช่องว่าง เกิดโอกาสให้แก่ผู้สมัครอิสระ              ยิ่งมีกระแสความขัดแย้งของสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่สร้างความเบื่อหน่ายให้แก่คนเมืองหลวง ก็มีแนวโน้มว่า ผู้คนที่เลือกตามกระแสนิยมนั้นอาจจะสวิงไปหาผู้สมัครอิสระ              หากย้อนกลับไปดูจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็จะพบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นกว่า 9 แสนคน              พลังเงียบขยับแล้ว !              ตรงนี้จึงทำให้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง              ดังนั้น หากแยกแยะปัจจัยที่จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้สมัครอิสระแล้วก็จะเป็นดังนี้              -ผู้ใช้สิทธิ์ที่เคยเลือกผู้สมัครอิสระ และงดออกเสียง              -ผู้ใช้สิทธิ์ที่เคยเลือกตามกระแสนิยม (Swing Vote) เบื่อปัญหาความขัดแย้ง              -พลังเงียบที่ออกมาใช้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น (จำนวน 9 แสนคน)              จากทั้ง 3 ปัจจัยที่ว่านั้น ประมาณเสียงคร่าวๆ ได้ราว 1.9 ล้านคน              อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นยังต้องดูว่า มีปัจจัยอื่นใดที่จะมากระตุ้นให้แต่ละส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีก              นั่นย่อมหมายความว่า โอกาสของผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งครั้งนี้คงบอกได้ว่า "มีลุ้น"   ย้อน5สมัยดูคะแนนผู้สมัครอิสระ              ย้อนกลับไปดูสถิติการเลือกผู้ว่าฯ กทม. 5 ครั้งหลังสุด จะพบว่า ถึงแม้จะมี พิจิตต รัตตกุล เพียงคนเดียว ที่ลงในนามอิสระได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้สมัครอิสระจะไม่มีโอกาส              การเลือกตั้งเมื่อ 2 มิถุนายน 2539 มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ร้อยละ 43.53              1.นายพิจิตต รัตตกุล ผู้สมัครอิสระ 768,994 คะแนน 49.47%              2.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรม 514,401 คะแนน 33.09%              3.ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้สมัครอิสระ 244,002 คะแนน 15.70%              4.นายอากร ฮุนตระกูล ผู้สมัครอิสระ 20,985 คะแนน 1.35%              5.นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครอิสระ 1,011 คะแนน 0.07%              การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ร้อยละ 58.87              1.นายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทย 1,016,096 คะแนน 45.85%              2.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยรักไทย 521,184 คะแนน 23.52%              3.นายธวัชชัย สัจจกุล พรรคประชาธิปัตย์ 247,650 คะแนน 11.17%              4.พันเอกวินัย สมพงษ์ ผู้สมัครอิสระ 145,641 คะแนน 6.57%              5.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผู้สมัครอิสระ 132,608 คะแนน 5.98%              การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ร้อยละ 62.5              1.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ 911,441 คะแนน 38.20%              2.นางปวีณา หงสกุล ผู้สมัครอิสระ (ลาออกจากพรรคชาติพัฒนา) 619,039 คะแนน 25.95%              3.นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครอิสระ 334,168 คะแนน 14.01%              4.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้สมัครอิสระ 165,761 คะแนน 6.95%              5.ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ผู้สมัครอิสระ 135,369 คะแนน 5.67%              การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ร้อยละ 54.18              1.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ 991,018 คะแนน 45.93%              2.นายประภัสร์ จงสงวน พรรคพลังประชาชน 543,488 คะแนน 25.19%              3.นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครอิสระ 340,616 คะแนน 15.79%              4.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้สมัครอิสระ 260,051 คะแนน 12.05%              5.นางลีนา จังจรรจา ผู้สมัครอิสระ 6,267 คะแนน 0.29%              การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ร้อยละ 51.10               1.หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ 934,602 คะแนน 45.41%              2.นายยุรนันท์ ภมรมนตรี พรรคเพื่อไทย 611,669 คะแนน 29.72%              3.หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล อิสระ 334,846 คะแนน 16.27%              4.นายแก้วสรร อติโพธิ กลุ่มกรุงเทพฯ ใหม่ 144,779 คะแนน 7.03%              5.นางลีนา จังจรรจา อิสระ 9,043 คะแนน 0.44%   ............ (หมายเหตุ : โอกาสของผู้สมัครอิสระ : เกาะติดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.)

นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ

นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ
                เปิดออกมาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับข้อเสนอในการนิรโทษกรรม ความผิดระหว่างการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออกเป็น พระราชกฤษฎีกา ตามที่ นปช. เห็นชอบ หรือกระทั่งดีกรีจัดอย่างการเขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญอย่างที่ "นิติราษฎร์" ต้องการ                 ต่างกันที่ข้อเสนอ พ.ร.ก. ตามแบบ นปช.นั้น ยังกระมิดกระเมี้ยนขอให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมือง ยกเว้นแกนนำ แม้ภายหลังจะมีสมาชิกเสื้อแดงบางคนบอกว่าแกนนำบางส่วนจะได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ไปด้วย                 ส่วนข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้น ชัดเจนว่าแกนนำมีเอี่ยว และจะได้รับผลจากนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน เพราะเลือกจะนิยามว่า จะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจที เกี ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐ จากวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 9 พฤษภาคม 2554                 ซึ่งชัดเจนว่าการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมานั้น ล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการเมืองทั้งสิ้น                 นอกจากนี้การตั้ง "กรรมการขจัดความขัดแย้ง" มาเป็นผู้ตีความว่าเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจจากทางการเมือง หากฟังตามคำอธิบายของนิติราษฎร์แล้ว มีความประสงค์ที่จะให้การพิจารณามีมิติมากกว่าตัวบทกฎหมาย                 แต่ในทางตรงข้ามกลับยิ่งเป็นการขยายอำนาจในการใช้ดุลพินิจ และมีความเป็นไปได้สูงว่าในหลายๆคดี อาจจะถูกยกโทษเพียงใช้คำว่า "มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง"                 ต้องไม่ลืมว่าในเรือนจำที่ยังมีผู้ต้องขังที่เคยเป็นผู้ชุมนุมนั้น หลายๆ กรณี ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดทางการเมืองเท่านั้น แต่หลายครั้งเป็นความต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและเลยเถิดมาถึงละเมิดกฎหมายอาญา                 หลายคนต้องข้อหาลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย จริงอยู่ที่บางคนทำไปเพราะโกรธแค้น แต่ก็ต้องไม่มองอย่างไร้เดียงสาว่าทุกคนเป็นเช่นนั้น เพราะยังมีหลายคนที่ฉวยโอกาสจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อหวังประกอบอาชญากรรม                 และต้องจำไว้ด้วยว่า หลักการชุมนุมนั้นสามารถทำได้หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่หากล้ำเส้นก็จำเป็นต้องมีความผิดทางอาญาและต้องรับโทษ เพราะแรงจูงใจทางการเมืองย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดผู้อื่นได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหากกระทำความผิดก็ต้องรับผิดเช่นกัน อย่างไม่มีข้อยกเว้น                 แต่หากจะอ้างเรื่องการขจัดความขัดแย้ง ข้อเสนอของ นิติราษฎร์ ยิ่งสอบตก เมื่อเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้แก่ฝั่งผู้ชุมนุม โดยที่ไม่ยอมอภัยให้แก่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อเป็นการวางมาตรฐานว่าต่อไปเจ้าหน้าที่ต้องปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง"                 เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้นค่อนข้างเหลื่อมล้ำ เพราะหากเป็นม็อบ ก็จะมีโอกาสพ้นผิดทั้งผู้ชุมนุม และแกนนำ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องรับผิด ทั้งคนสั่งการ หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นผู้รับคำสั่ง ก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นผิด                 เหตุผลฟังดูสวยหรู แต่มองลึกเข้าไปจะเห็นชุดความคิดที่ว่า เฉพาะฝั่งผู้ชุมนุมเท่านั้นที่มีโอกาสผิดพลาด แต่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่มีโอกาสผิดพลาดแม้แต่น้อย                 ไม่ทราบว่า "นิติราษฎร์" จะเคยรู้หรือไม่ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานนั้น บางคนก็เชื่อว่าคำสั่งที่ได้รับนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างกระทำตามขั้นตอน และไม่เชื่อว่ามีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น                 ความผิดพลาดเช่นนี้ ความไม่รู้เช่นนี้ นิติราษฎร์เลือกที่จะลืมหรือไม่                 เชื่อได้ว่าหากอ้างเรื่องบรรเทาความขัดแย้ง ทุกคนน่าที่จะยอมรับการนิรโทษหรือให้อภัยผู้ร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ระดับล่าง เพื่อปลดล็อกประเทศให้เดินหน้า แต่การนิรโทษให้แก่แกนนำหรือผู้สั่งการจนมีคนตายกลางเมืองเกือบร้อย คงเป็นเรื่องที่ยากเกินทน                 แต่เมื่อข้อเสนอยังลักลั่นเช่นนี้ ก็ยากที่จะทำให้เกิดการยอมรับ และความขัดแย้งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดโดยการยอมรับเพียงฝั่งเดียว                 ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนถามกลับไปยังทั้งสองฝ่าย เริ่มจากฝั่งที่ไม่ใช่เสื้อแดงว่ายอมรับได้หรือไม่ ที่แกนนำจะต้องพ้นผิดหากความจริงปรากฏว่ามีการใช้ความรุนแรง ยั่วยุ ใช้อาวุธ ตลอดจนกระทั่งเผาบ้านเผาเมือง                 หรือฝั่งคนเสื้อแดงยอมรับได้จริงหรือไม่ หาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"  ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ แม้ทุกอย่างจะชี้ชัดว่า "สั่งฆ่า" ประชาชนจริงๆ                 หรือความจริงที่ปรากฏจะเป็นว่า ต่างคนต่างผิด                 หนทางของการขจัดความขัดแย้งจึงไม่ใช่อยู่ที่การมองว่าฝั่งตัวเองเท่านั้นที่ถูก หรือการเลือกที่จะลืมๆความผิดที่ก่อมาและกรอเทปกลับไปเสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น วันนึงก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา                 ความขัดแย้งย่อมถูกขจัดได้ด้วยความจริง และคนผิดต้องได้รับโทษตามสมควร                 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าถึงวันนี้บรรดา "ผู้นำ" ทั้งหลายที่เคยปากกล้าว่าจะไม่รับการนิรโทษ เมื่อวันเวลาผ่านไป ความจริงปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จะยังยืนยันคำเดิมว่า "ไม่ขอรับการนิรโทษ" หรือไม่ .......... (หมายเหตุ : นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ : ขยายปมร้อน โดยอรรถยุทธ  บุตรศรีภูมิ)  

ทักษิณมั่นใจพงศพัศชนะเลือกตั้ง

ทักษิณมั่นใจพงศพัศชนะเลือกตั้ง
               18 ม.ค.56 นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้เดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีโอกาสสนทนาเรื่องบ้านเมืองทั่วไปกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งท่านยังมั่นใจในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยดี สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่พรรคเพื่อไทยส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้สมัครนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ มั่นใจว่าโค้งสุดท้ายจะสามารถเอาชนะได้ เพราะคนกรุงเทพฯ อยากลองของใหม่ เบื่อหน่ายพวกที่เอาแต่เล่นเกมการเมือง และเชื่อว่า คนกรุงเทพฯ อยากเห็นการประสานงานที่เข้าขากันระหว่างรัฐบาลกับกทม.                นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเห็นว่า แม้ พล.ต.อ.พงศพัศ จะเปิดตัวช้ากว่า แต่ความนิยมไม่แพ้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถ้าหากเสนอนโยบายมาเพิ่มเติมอีกหน่อยก็น่าจะเอาชนะได้

Blog Archive