Tuesday, December 25, 2012

ขสมก.จับมือ 6 องค์กร รณรงค์ไม่ดื่มบนรถ ลดอุบัติเหตุปีใหม่

ขสมก.จับมือ 6 องค์กร รณรงค์ไม่ดื่มบนรถ ลดอุบัติเหตุปีใหม่
ขสมก.จับมือ 6 องค์กรภาครัฐ-เอกชน ออกรณรงค์ติดสติกเกอร์ไม่ดื่มบนรถ รับมืออุบัติเหตุปีใหม่ ภายใต้โครงการ “โนแอลกอฮอล์  ขสมก.ปลอดภัย”...วันที่ 25 ธ.ค. นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นประธานเดินรณรงค์แจกสื่อติดสติกเกอร์ “ห้ามดื่มสุราบนรถ” และติดป้าย “สถานีรถโดยสารห้ามขายห้ามดื่มสุรา” ภายใต้โครงการ “โนแอลกอฮอล์ ขสมก. ปลอดภัย” เพื่อให้ประชาชนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ หวังรับมืออุบัติเหตุปีใหม่  จัดโดย กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย (ITF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจำลองสถานการณ์ ดื่มแล้วสร้างปัญหาบนรถโดยสาร ตอน “บนรถนะพี่ไม่ใช่ที่กินเหล้า” จากเครือข่ายละครรณรงค์ DDD เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 55 ที่สถานีรถโดยสาร บางเขน. 

สดศรียัน กกต. ไม่เหมาะเป็นที่ปรึกษารัฐทำประชามติ

สดศรียัน กกต. ไม่เหมาะเป็นที่ปรึกษารัฐทำประชามติ
“สดศรี สัตยธรรม” ถามรัฐบาลเชิญ กกต. คุยทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในฐานะอะไร ชี้ให้ กกต.เป็นที่ปรึกษาคงไม่เหมาะ…ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมเชิญ กกต.ไปหารือ เพื่อขอคำปรึกษาการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า หน้าที่กกต. เป็นผู้อธิบายให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการออกเสียงประชามติ กกต.ไม่สามารถไปกำหนดประเด็นการจัดทำประชามติให้รัฐบาลได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดประเด็นเอง หากมีการเชิญจากรัฐบาลจริง กกต.คงจะมอบหมายให้เลขาธิการ กกต. ไปแทนอีกทั้งการที่รัฐบาลจะเชิญ กกต.ไปนั้น ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลว่าจะให้ กกต.ไปในฐานะอะไร ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะให้ กกต. เป็นผู้อธิบายในข้อกฎหมายนั้น และคิดว่าทางรัฐบาลมีทีมกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษาอยู่แล้ว จะให้ กกต. ไปให้คำปรึกษาคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจะให้ กกต.เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน วินิจฉัยเอง และแนะนำให้คำปรึกษาด้วยนั้น คงจะไม่เหมาะสม.

บัญญัติชี้ 3 ชนวนเหตุเสี่ยงทำการเมืองปี 56 เปลี่ยนแปลง

บัญญัติชี้ 3 ชนวนเหตุเสี่ยงทำการเมืองปี 56 เปลี่ยนแปลง
บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ปรึกษาพรรค ปชป. วิเคราะห์การเมืองปี 56 ชี้ 3 ชนวนเหตุเสี่ยงทำการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง สั่ง ส.ส. ปชป. จับตารัฐทำทุกทางให้ประชามติเข้าเป้า...วันที่ 25 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองปีหน้าว่าจะสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทางการเมือง ตามที่ นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่ได้ทำนายเหตุการณ์การเมืองในปีหน้า จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นประชานิยม การสร้างภาระหนี้สินต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถึงขั้นอาจจะมีการยุบสภาในช่วงกลางปี หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยสาเหตุที่สะท้อนให้เห็น 3 เหตุการณ์ คือ 1.การมุ่งประเด็นโยนความผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในปี 53 ที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย 98 ศพ ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ โดยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ที่ต้องรับความผิด ทั้งที่รู้ว่าในแง่ของกฎหมายและการต่อสู้คดีในชั้นศาล ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ที่มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐบาลยังใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ออกข่าวผ่านสื่อเพื่อทำลายชื่อเสียง และตีกินพื้นที่ข่าว สร้างความสับสนให้ประชาชนและสังคมต่อ 2. กรณีของ นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมทนายพรรค ที่ถูกประทุษร้ายเอาชีวิตจนบาดเจ็บสาหัส ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังย้อนไปสู่ยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ยึดคติว่า ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ด้วยการข่มขู่ประชาชนต่างๆ นานา และ 3. กรณีปมใหญ่คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลรณรงค์อ้างว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ มาได้โดยตลอด และเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติด้วย ครั้งนี้ จึงเป็นการพิสูจน์คนไทยว่าจะออกมาทำประชามติให้มีการแก้ไขหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีพฤติกรรมชัดเจนว่า จะมุ่งทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายบัญญัติ กล่าววิเคราะห์ต่อว่า ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เขาใหญ่ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นคนเนื้อเดียวกันแล้ว เพราะแกนนำเสื้อแดงบอกให้โหวตวาระ 3 ไปเลย โดยไม่ต้องทำประชามติ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบอกให้ทำประชามติให้ถูกต้องขั้นตอนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพราะรู้ว่าถ้าไม่ทำจะมีคนไปยื่นฟ้องศาล ทำให้เสียเวลาในการกลับบ้าน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเชื่อว่าจะสามารถระดมเสียง ให้คนออกมาใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดคือ เกิน 24.7 ล้านเสียง เพราะถือว่ามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ที่สุดแล้วก็จะมีการข่มขู่ข้าราชการประจำ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ จะต้องเกณฑ์ระดมคนมาให้เกิน 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของแต่ละพื้นที่ คือทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ หากไม่เข้าเป้าก็จะมีการโยกย้ายเหมือนกับที่เคยทำมาในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตีแตกข้าราชการ ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงต่างๆ อีกทั้งยังมีการให้ ส.ส. ในพื้นที่ทุ่มเทสรรพกำลัง ในการระดมคนออกมาทำประชามติ อิงแอบไปกับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าพื้นที่ไหนไม่เข้าเป้า ครั้งหน้าไม่ส่งลงเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวทวีให้เดินไปสู่ความขัดแย้ง จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา รวมตัวกันเหมือนปรากฏการณ์ ม็อบ เสธ.อ้าย ที่ผ่านมา จึงขอให้ ส.ส. และสมาชิกพรรค จับตาการทำประชามติว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และแจ้งให้พรรคทราบ.

Blog Archive