Sunday, May 2, 2010

อย่าเลี้ยงไข้!

อย่าเลี้ยงไข้!



คมชัดลึก : การประชุมโคมข่าว "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเช้าวันอาทิตย์เมื่อถึงเวลานัดหมายมีทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ ฝ่ายความมั่นคง พร้อมหน้า






ท่ามกลางกระแสอาจมีการออกกฎหมายเข้าไปบริหารจัดการ และดูแลการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อหาหนทางแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ เพราะเห็นว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
 ประกอบกับน้ำเสียงของ "นายกฯ อภิสิทธิ์" ในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ที่ระบุทำนองว่า "ผมตระหนักดีว่า เมื่อผมมานั่งอยู่ตรงนี้ ความรับผิดชอบ ความคาดหวังของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ผมต้องแบกรับไว้ทั้งหมด และพร้อมที่จะแบกรับตรงนี้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ประสบความสำเร็จให้ได้" 
 รวมทั้งประโยคที่ว่า "ทางผมและทาง ศอฉ.นั้นได้มีคำสั่งไปแล้วครับ มีทั้งการประสานงาน และมีคำสั่งไปว่าในวันนี้จะต้องดำเนินการให้พื้นที่ตรงนั้น สามารถที่จะนำไปสู่การที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างมีความมั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง" 
  จึงทำให้หลายฝ่ายมั่นใจอาจมีการเข้าไปดำเนินการกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์บุกรุกโรงพยาบาลจุฬาฯ
 แต่ปรากฏว่าที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติอนุมัติเงิน 249 ล้าน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใช้ดูแลความสงบเรียบร้อย และอนุมัติงบกลางให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ใช้ในการสอบสวนดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เฉพาะคดีก่อการร้ายคดีความมั่นคง 28 ล้านบาท เท่านั้น
 ขณะที่ความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงก็ได้มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อคืนพื้นที่การจราจรบริเวณถนนราชดำริทั้งสองฝั่ง เพื่อเปิดทางให้แก่ผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตามปกติ ซึ่งผลการเจรจาทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมรื้อยางรถยนต์ ลวดหนาม และไม้ไผ่ออกจากทางเข้าโรงพยาบาล ฝั่งถนนราชดำริ ประตูทางเข้าฉุกเฉิน และประตูทางเข้าตึก สก แต่กลุ่มคนเสื้อแดงยังไม่ถอยไปบริเวณสวนลุมพินีตั้งแต่อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ไปจนถึงแยกสารสิน ตามที่โรงพยาบาลและ ศอฉ.ต้องการ
 แม้ว่ารัฐบาลจะมีท่าทีขึงขังเพียงใด ก็ไม่มีผลต่อพฤติกรรมของคนเสื้อแดง สุดท้ายจะกลายเป็นว่ารัฐบาล "เลี้ยงไข้" ปล่อยให้กองกำลังคนเสื้อแดงเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น
 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มีคนในรัฐบาลได้ผลประโยชน์จาก "งบประมาณ" ในการจัดการกับคนเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น!!!








ข่าวที่เกี่ยวข้องไขปม เสื้อแดงยึดเมืองสร้าง"ขอนแก่นโมเดล"ปรับแผนแก้วิกฤติราคาข้าวตกต่ำเกมนี้ของรัฐบาลเดินถูกทาง มติหมอจุฬาฯยันแดงต้องถอยถึงแยกสารสินตร.จนปัญญา กฎอัยการศึกเป็นอำนาจกองทัพมาร์คแจงรมว.กห.ยันยังไม่ประกาศกฎอัยการศึกคุมม็อบแดง

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

เขายิงเราแล้วเสียงสุดท้ายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ

เขายิงเราแล้วเสียงสุดท้ายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ



คมชัดลึก : จากเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดยิงใส่ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 9 (ร.9 พัน.2) เสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของเจ้าหน้าที่ ทหาร-ตำรวจ กับ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ยังคงตราตรึงให้ พลทหารพงษ์ระวี ชนะชัย พลทหารสังกัดเดียวกับ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว






พลทหารพงษ์ระวี เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ในระหว่างทำหน้าที่เป็นพลขับชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว โดยมี พลทหารณรงค์ฤทธิ์ (ผู้ตาย) ซ้อนท้าย และมีอาวุธปืนครบมือในการทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติภารกิจที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ
 โดยขี่รถจักรยานยนต์ไปกับเพื่อนร่วมทีมหลายคันตามกันไป แต่การปฏิบัติงานครั้งนี้ถือว่าลำบากมากเนื่องจากฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และมองไม่เห็นว่าสถานการณ์ข้างหน้าเป็นอย่างไร
 ก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าว เพื่อนผม (พลทหารณรงค์ฤทธิ์) ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นลางบอกเหตุ และก็ไม่ได้มีการพูดอะไรกันมาก เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าภารกิจข้างหน้าคืออะไร และควรทำอย่างไร เพื่อให้สถานการณ์เกิดความเรียบร้อยไม่ให้ลุกลาม
  แต่ในระหว่างที่ผมขี่จักรยานยนต์มาถึงที่เกิดขึ้น ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4-5 นัด แต่ก็ไม่รู้ว่ากระสุนปืนดังมาจากทิศทางไหน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใต้ทางด่วนโทลล์เวย์ทำให้เสียงมันก้องมาก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
 โดยสัญชาตญาณที่ได้ฝึกฝนมา เมื่อได้ยินเสียงปืนก็ได้ล้มรถจักรยานยนต์ และพยายามคลานเข้าหาที่กำบังให้โดยเร็วที่สุด ซึ่งวันนั้นกำบังที่ดีที่สุดคือรถที่จอดติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 ได้ยินพลทหารณรงค์ฤทธิ์บอกกับผมว่า “เขายิงเราแล้ว” ซึ่งถือว่าคำพูดครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินเสียง
 จึงพยายามประคับประคองเพื่อนช่วยกันนำออกจากพื้นที่ ในความรู้สึกตอนนั้นคิดว่าต้องช่วยเพื่อนให้ได้ แต่ท้ายสุดก็ช่วยเพื่อนไม่ได้
 "ผมรู้สึกเสียใจมาก เพราะไม่คิดว่าเพื่อนที่นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกันจะเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะมาเกิดขึ้น เพราะมันเร็วและตกใจกับเหตุการณ์ จากนั้นได้เรียกบรรดาเพื่อนที่ขี่จักรยานยนต์มาด้วยกันช่วยพยุงพลทหารณรงค์ฤทธิ์ออกจากพื้นที่ตรงนั้นให้เร็วที่สุด"
 พลทหารพงษ์ระวี กล่าวว่า หลังจากที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายงาน ต้องทำงานร่วมกันและเจอกับเพื่อนคนนี้ทุกวัน จนกลายเป็นคู่หูในการออกปฏิบัติหน้าที่ โดยนิสัยส่วนตัวเขาเป็นคนนิสัยร่าเริง อารมณ์ดี และมีน้ำใจกับเพื่อนๆ เสมอ ไม่คิดว่าเพื่อนจะมาเสียชีวิต ต่อไปนี้คงไม่เจอกับเพื่อนคนนี้เหมือนเช่นทุกวันแล้ว
 ทั้งนี้การออกปฏิบัติภารกิจก็ไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องลางของขลัง เพียงแต่ยึดมั่นในเรื่องการทำงานให้ดีที่สุดเท่านั้น
 หลังจากเกิดเหตุการณ์มาได้ระยะหนึ่ง ก็ทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น และตอนนี้ใจสู้เต็มร้อยแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด ทั้งนี้บทเรียนที่ผ่านมาหาซื้อไม่ได้ และเทียบไม่ได้
 เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเฉียดตายกับผมมาก เพราะถ้าไม่ใช่เพื่อนผม ก็คงจะเป็นตัวผมเอง
 นับจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าแรงมาก เพราะไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นไม่ว่าการจะปฏิบัติงานอย่างไรจะต้องอยู่บนพื้นฐานอย่าประมาท และจะต้องระมัดระวัง
 “ผมอยากบอกเพื่อนให้ทำหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจต่อไป และตั้งใจให้เต็มที่ เพราะเราเป็นทหารจะต้องช่วยกันปกป้องบ้านเมืองให้เกิดความเรียบร้อย ทั้งนี้ไม่ว่าผมหรือเพื่อนๆ ตอนนี้ใจเต็มร้อยกันทุกคน และพร้อมที่จะปฏิบัติงานทุกเมื่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ภารกิจของประเทศชาติลุล่วงไปด้วยดี
 พลทหารพงษ์ระวี กล่าวทิ้งทายว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้โทรศัพท์พูดคุยกับพ่อและแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งท่านก็ให้ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ อย่าทำงานอย่างประมาท และนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ให้ดี
 ทั้งนี้พรที่พ่อแม่ให้มาถือเป็นพรวิเศษที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมยืนยันว่า กำลังใจเต็มร้อย จะไม่ท้อ และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด
 ขณะที่ พ.ท.สิทธิพร จุลปานะ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 9 เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการสูญเสียอีกครั้งหนึ่งของกองทัพ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของทหารก็จะต้องปฏิบัติกันต่อไปเพื่อประเทศชาติ
 ชุดลาดตระเวนของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 9 ได้จัดภารกิจบริเวณหลักสี่ โดยมีชุดลาดเวนเคลื่อนที่เร็วจำนวน 1 ชุด หรือ 55 คัน ซึ่งการปฏิบัติงานแต่ละครั้งถือว่ามีความพร้อมเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเหมือนเดิม
  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็ไม่ทราบว่ากระสุนปืนมาจากที่ใด และเสียงปืนที่ยิงมาก็ก้อง เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นบริเวณใต้ทางด่วนโทลล์เวย์ จึงไม่รู้ว่าเสียงปืนดังมาจากทางไหนบ้าง
 “กำลังพลเข้าใจดีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่ากองทัพจะต้องสูญเสียกำลังพลในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ไป แต่เราก็จะยังเดินหน้าในการแก้ไขสถานการณ์ให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข กำลังพลทุกนายยังมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีใครหวาดกลัวอะไร ทุกอย่างสามารถเกิดการสูญเสียได้ ทั้งนี้จะเอาบทเรียนที่ได้รับมาปรับในการปฏิบัติงานให้รอบคอบมากกว่า ซึ่งเหตุการณ์ในวันดังกล่าวถือว่ามีอุปสรรคในเรื่องฝนฟ้าที่ตกลงมาเป็นจำนวนมาก การติดต่อสื่อสารก็ติดต่อลำบาก”
 หลังจากกองทัพต้องสูญเสียกำลังพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ไป เราก็ไม่ท้อ และยังสามารถตอบโจทย์ให้กำลังพลในการเดินหน้าเพื่อประเทศชาติต่อไป และทุกคนก็ยินดีที่จะทำเพื่อประเทศชาติ และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าเสียใจ โดยเฉพาะตนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินต่อไป และปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
ปัญญา ทิ้วสังวาลย์








ข่าวที่เกี่ยวข้องศพทหารเหยื่อปะทะ28เม.ย.ถึงบ้านเกิดรับสมเกียรติสุเทพอุบวาระถกครม.นัดพิเศษปัดใช้กฎอัยการศึกรพ.จุฬาย้ายคนไข้หนีแดงช็อกยื้อชีวิต ศอฉ.แถลงทหารดับ1โชว์ยึดM79เพียบ

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

เชื่อมือจุมพล เทือกดัน ขึ้นนั่งผบ.ตร.

เชื่อมือจุมพล เทือกดัน ขึ้นนั่งผบ.ตร.

สุเทพ ส่อดัน จุมพล ขึ้น ผบ.ตร.เชื่อมีบารมีในแวดวงสีกากี ถนัดงาน ทั้งบู๊และบุ๋น  แก้ปัญหาจะลุล่วงและเดินหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ นายกฯ ย้ำอีก ปทีป-สัณฐาน ไปด้วยกัน ระบุคดีที่เกิดขึ้นก็อยู่ในพื้นที่นครบาลเป็นส่วนใหญ่.. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ศอฉ.ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ได้พยายามสนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. ให้เข้ามา แก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เนื่องจากที่ผ่านมา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. ผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะ พล.ต.อ.ปทีปไม่ถนัดงานด้านการปราบปราม ทำให้รัฐบาลต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับในหลายสถานการณ์ ทำให้นายสุเทพต้องการให้ พล.ต.อ.จุมพลเข้ามาทำหน้าที่ตรงจุดนี้เต็มตัว เพราะมีบารมีในแวดวงสีกากีถนัดงานทั้งบู๊และบุ๋น ซึ่งหากใช้โอกาสนี้ตั้ง พล.ต.อ.จุมพลมาแทนตำแหน่งของ พล.ต.อ.ปทีปได้ นายสุเทพเชื่อว่าการแก้ปัญหาจะลุล่วงและเดินหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะนายสุเทพต้องการให้ พล.ต.อ.จุมพลขึ้นมาเป็นผบ.ตร.เต็มตัว แทน พล.ต.อ.ปทีปที่นั่งเป็น รรท.ผบ.ตร.ทันทีผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพได้หยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกฯ และนายศิริโชค โสภา ส.ส. ผู้ติดตามนายกฯ นั่งร่วมวงอยู่ด้วย ซึ่งนายนิพนธ์ นายกอร์ปศักดิ์ และนายสาทิตย์ มีความเห็นสอดคล้องกับนายสุเทพ ที่เห็นว่าการทำงานของตำรวจในช่วงที่ผ่านมาไม่ ทุ่มเทและไม่เต็มที่กับรัฐบาล จนทำให้งานสะดุด ซึ่งนายสุเทพ นายกอร์ปศักดิ์ และนายสาทิตย์ ต่างยอมรับฝีมือ และเห็นว่า พล.ต.อ.จุมพลเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้มากที่สุด ขณะที่นายศิริโชค สีหน้าไม่สู้ดีอยู่เพียงคนเดียว เพราะนายศิริโชคให้การสนับสนุน พล.ต.อ.ปทีปมาตลอด อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนตัวผบ.ตร. ซึ่งนายสุเทพได้แย้งว่า พล.ต.อ.ปทีปคุมตำรวจไม่อยู่ งานไม่เดินหน้า คดีต่างๆจับกุมได้ช้ามาก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้บอกกับนายสุเทพว่า ถ้าจะเปลี่ยน พล.ต.อ.ปทีป ก็ต้องย้าย พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. ด้วย เพราะคดีที่เกิดขึ้นก็อยู่ในพื้นที่นครบาลเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นายสุเทพถึงพูดไม่ออก


NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

บทบาทสื่อท่ามกลางวิกฤติขัดแย้ง ยังก้าวไม่พ้น ทุน-อำนาจ

บทบาทสื่อท่ามกลางวิกฤติขัดแย้ง ยังก้าวไม่พ้น ทุน-อำนาจ

สื่อ: ความขัดแย้ง: บทบาทเป็นทั้งตัวนำและตัวทำลาย สื่อมืออาชีพ-สื่อสันติภาพ ที่สังคมถามหาบทบาท และ ความรับผิด ชอบของสื่อสารมวลชนท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งรุนแรงของสังคมไทยขณะนี้ ถูกตั้งคำถามมากมายพร้อมๆไปกับการตั้งความหวังว่าจะเป็นหน่วยที่สร้างความ เข้าใจอันดีของคนในประเทศ เพราะเหตุว่าเป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นคนกลางในการรับส่งข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการสื่อ การรับรู้ การตัดสินใจ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นสื่อไทยซึ่งมีอยู่หลายแขนง หลายสำนัก หลายรูปแบบ สื่อกระแสหลัก หรือ สื่อเกิดใหม่ภายใต้ยุคสังคมโลกไร้พรหมแดน กำลังดำเนินการอะไร ยืนอยู่ตรงจุดไหนบ้าง เข้าใจในบทบาทของตัวเอง รับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำมากน้อยแค่ไหน และ ควรปฏิบัติอย่างไรในท่ามกลางวิกฤติสังคมขณะนี้    
รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งปัจจุบันนี้ แยกเป็นสองกรณี คือ สื่อกระแสหลักดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ที่เป็นนักวิชาชีพดั้งเดิม ยังถือว่าใช้ได้ ภาพรวมยังมีความพยายามที่จะเติมเชื้อให้กับความขัดแย้ง แต่บางครั้งก็มีบ้างที่ยังหลุด ยังมีความเป็นจ้าของ การฝักใฝ่ทางการเมือง กลายพันธุ์ออกไป ยังเป็นการเติมเชื้อให้กับความรุนแรง ส่วนสื่อกระอีกประเภทหนึ่งก็คือสื่อกระแสรองที่เกิดขึ้นมาใหม่ภายหลังยุค ปฏิรูปสื่อ เช่น วิทยุชุมนุม เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ซึ่งหลายสถานียังไม่มีความเป็นมืออาชีพ มีผู้ปประกอบการรายย่อย รวมถึงตลอดบุคคลเข้ามานำเสนอ ทำให้มิติในแง่จรรยาบรรณ  ความรับผิดชอบ ค่อนข้างที่จะตำ่กว่า เนื่องจากวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป ไม่สามารถก้าวพ้นวิกฤติสังคมไปได้ท่ามกลางที่มีความขัดแย้ง หรือ สถานการณที่มีความอ่อนไหวสูง สื่อต้องทำหน้าที่เป็นสื่อสันติภาพ ต้องให้ความสำคัญกับการไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีการประณาม หรือ ใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางความคิดหรือพฤติกรรม ไม่มองเรื่องแพ้ชนะเป็นหลัก สื่อที่มองถึงประโยชน์สาธารณะ มองความสุขกลับคืนมา ต้องไม่เสนอการแพ้ ชนะ หรือรายงานความสูญเสีย แต่จะต้องนำเสนอทางออกของวิกฤตินั้นๆ สื่อต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเป็นหน่วยที่สำคัญมากๆของสังคม อย่าทำตัวเป็นแค่กระจก จริงๆแล้วจรรยาบรรณที่เขียนไว้ครบถ้วนแล้ว ถ้าสื่อทำได้ตามนั้นจะดี แต่ยังมีหลายสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามแถมยังทำหน้าที่โดยตรงในการยั่วยุให้เกิด ความรุนแรง
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท่ามกลางความขัดแย้งขณะนี้นั้นยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาพสังคมแห่งความเห็นและอารมณ์  สื่อไทยยังติดอยู่ภายใต้การครอบงำ ยังทำงานอยู่ภายใต้รูปแบบ วิธีคิด หรือ มายาคติ ของทุน อำนาจรัฐ สื่อมวลชนต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนและหนักแน่น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดๆ ต้องอดทนในการทำหน้าที่ นำความจริงในหลายๆ มุมมาเสนอให้ครบ ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ ต้องไม่เป็นเป็นเวทีของสีใด ท่ามกลางวิกฤติเวลานี้ บ้านเมืองต้องการสื่อที่มีเป็นมืออาชีพอย่างมาก 

สื่อต้องทำหน้าและบทบาทในการสร้างสังคม เพราะสื่อสามารถที่นำหรือกำหนดทิศทางของสังคมได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงบทบาทกระจกที่สะท้อนเท่านั้น ไม่ใช่ว่าสังคมจะบูดเบี้ยวอย่างไรก็สังคมอย่างนั้น และไม่ใช่แค่ตะเกียงที่คอยส่องทางให้คนเดินขณะเดียวสังคมต้องใช้สื่อเพื่อสนองตอบทิศทางหรืออุดมการณ์ของสังคม ผู้บริโภคเองก็อย่าตกเป็นเหยื่อ ต้องเข้าใจว่าตนเองมีพลังในการที่จะเปลี่ยนสื่อได้ ต้องมีจรรยาบรรณของผู้บริโภคด้วย จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างเท่าทัน ส่วนสื่อมวลชนเองต้องพร้อมที่ปรับเปิดพื้นที่ให้กับสังคมมากขึ้น ต้องไม่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือมีอำนาจในการที่จะนำเสนออะไรก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จริยธรรมวิชาชีพต้องแข็งแรงจริงๆ จึงจะอยู่ได้
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ  โครงการ ศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม(มีเดีย มอนิเตอร์) กล่าวว่า  จากศึกษาพบว่าสื่อโดยเฉพาะ สื่อโทรทัศน์ฟรีทีวีของไทยนั้น ยังเน้นการรายงานข่าวเฉพาะบรรยากาศของการชุมนุม  การเตรียมความพร้อมจากรัฐบาล และความคืบหน้าประเด็นทางการเมือง แต่ก็มีบางช่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องทีวีหลักและเคเบิ้ลทีวี จะมีรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์ เน้นประเด็นเสนอทางออกความขัดแย้ง และการวิเคราะห์ปัญหา อย่างไรก็ตามการนำเสนอของสื่อสารมวลชนท่ามกลางความขัดแย้งนั้น  ควรให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวในสัดส่วนที่เหมาะสมกับ เหตุการณ์ ลดการให้ความสำคัญกับแหล่งข่าว ที่เป็นผู้ขัดแย้ง เพิ่มน้ำหนักความสมดุล และความหลากหลายของข่าว จากกลุ่มอื่นของสังคม เช่น กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง กลุ่มพลังเงียบ ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม หรือนักวิชาการอิสระที่แท้จริง และควรแสดงความเป็นกลาง ไม่นำเสนอภาพความรุนแรง ภาษาพูดที่มีลักษณะซ้ำไปซ้ำมา ควรเน้นรายงานข่าวเชิงลึก เชิงวิเคราะห์ และในการนำเสนอภาพจากแฟ้มภาพ ควรจะต้องระบุวัน เวลา สถานที่ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ และควรตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนนำเสนอ ควรรายงานข่าวเชิงสันติภาพผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สังเกตได้ว่าการรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์นั้น เป็นการรายงานข่าวจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ไม่มีการอ้างอิงแหล่งข่าว และ ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานภาพเหตุการณ์ซ้ำๆ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น  คนที่ดูรายการมีหลายกลุ่ม อาจทำให้บางกลุ่มเกิดความคับแค้นใจ สังคมจึงหาทางออกไม่ได้ ไม่มีความหวัง และไม่สามารถแสวงหาการยุติความขัดแย้งได้  อีกทั้งการทำงานในระดับกองบรรณาธิการมีการแข่งขันกันในแง่ของความเร็ว การเข้าถึงสถานการณ์ และจะนำไปสู่การแย่งกันเพื่อรายงาน แต่แสดงออกมาในลักษณะที่ฉาบฉวย เสี่ยงต่อการถูกตั้งคำถามในแง่ของหลักการทำงานที่ถูกต้องของหลักวิชาชีพ และ จรรยาบรรณของสื่อ อย่างไรก็ตามแม้การรายงานข่าวที่มีแหล่งข่าวมาให้ข้อมูลก็ตาม สื่อมวลชนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะบางครั้งแหล่งข่าวอาจให้ข้อมูลเพื่อเป็นการป้ายสีฝ่ายตรงข้าม
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า  สื่อไทยหลายแขนง หลายสำนักเผชิญกับปัญหาเรื่องทุน ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาธารณะ สื่อธุรกิจ สถานีวิทยุชุมชนหลายแห่งเป็นปากกระบอกเสียงให้กับนักธุรกิจ นักการเมือง เป็นเครื่องมือของมีอำนาจ หรือ ผู้แสวงหาอำนาจ สุดท้ายสื่อเองกลายเป็นตัวทำให้เกิดความแตกแยก 

สื่อเป็นตัวชี้นำ และ เป็นตัวทำลาย พร้อมๆกัน ต้องตระหนักให้ได้ว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง ฉะนั้น/ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งนั้น สื่อมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญไม่ได้เป็นเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์ เท่านั้น ต้องรายงานสถานการณ์ในภาพรวมอย่างครบถ้วน รอบด้าน เที่ยงตรง การรายงานข่าว ที่สำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน ต้องรายงานเชิงลึกและช่วยกันถกหาแนวทางออกของวิกฤตินั้นๆด้วย
จรรยาบรรณสื่อสารมวลชนสากล  23 ข้อ ประกอบด้วย 1. ต้องกระทำตนให้อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมมีกริยาดี (The bounds of decency)2. ไม่สร้างข่าวขึ้นเอง (Do not attempt to make news)3. ต้องเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร (The truth and the whole truth)4. ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น (Do not to invade the private rights)5. ไม่บังคับบุคคลให้พูด (Do not to force individuals to speak)6. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสังคม (Play fair with a person against whom derogatory charges)7. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ (Play fair with persons quoted in its columns)8. รักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว (Keep the confidence of its news sources)9. ไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่นำเสนอ (Do not suppress news)10. ไม่ควรขายข่าว ขายคอลัมน์เพื่อเงิน หรือความพอใจส่วนตัว (Do not sell its news colums for money or courtesies)11. ละเว้นจากการเข้าร่วมพรรคการเมือง (Refrain from allowing party politics)12. ต้องบริการคนส่วนรวม มิใช่บริการคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Serve the whole society, not just one class)13. ช่วยต่อสู้และปราบปรามอาชญากร (Fight and discourage crime)14. ต้องเคารพ และช่วยผดุงกฏหมายบ้านเมือง (Must respect and aid the law and the courts)15. สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน (Seek to build its community)16. ไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างญาติและเพื่อนของผู้อื่น (Not injure the relatives and friends)17. คำนึงว่าการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาสังคมสิ่งหนึ่งไม่ควรเสนอข่าวไปในเชิงไม่สุภาพ(To recognize divorce, suicide as an unfortunate social problem)18. อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง (Do not attack on competitive)19. อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล (Do not ridicule the insane or the feebleminded or misfortunes)20. เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล (Respect churches, nationalities and races)21. หน้ากีฬาควรเขียนถึงทุกๆ คน (Sports page is written for everybody)22. แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที (Be prompt in correcting errors)23. จำไว้ว่าข่าวที่นำเสนอนั้น มีเยาวชนชายหญิงอ่านด้วย (Remember that the new is read by young boys and girls)ที่มา : หนังสือ The Complete Reporter ของ Kelly Leiter, Julian Harriss, Stanley Johnson


NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

ประธานวุฒิสภามั่นใจ การเมืองไทยมีทางออก

ประธานวุฒิสภามั่นใจ การเมืองไทยมีทางออก

นายประสพสุข บุญเดชประสพสุข บุญเดช ระบุ รัฐบาลพร้อมชี้แจงต่อที่ประชุมว่าจะมีทางออกอย่างไรให้กับประเทศ ขณะที่วุฒิสภาก็พร้อมเสนอแนะทางออกให้เช่นกัน ชี้ นายกฯให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศถึงทางออกของปัญหา ถือเป็นท่าทีที่ดี...3 พ.ค. นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามมาตรา 161 ว่า เชื่อว่าการประชุมจะเป็นทางออกให้ประเทศได้ และมั่นใจว่ารัฐบาลจะชี้แจงต่อที่ประชุมว่าจะมีทางออกอย่างไรให้กับประเทศได้ ขณะที่วุฒิสภาก็พร้อมจะเสนอแนะทางออกให้เช่นกัน ส่วนกรอบเวลาในการอภิปรายวุฒิสภานั้นกำหนดว่าจะให้วุฒิสภาอภิปราย 12 ชั่วโมง รัฐบาลชี้แจง 2 ชั่วโมง การอภิปรายน่าจะเสร็จสิ้นในเวลา 24.00 น. โดยจะไม่อนุญาตให้นำภาพและคลิปเสียงมาเปิดในที่ประชุมเนื่องจากคลิปเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ ประกอบกับจะเป็นการเสียเวลา เพราะทุกคนต่างเคยดูภาพมาแล้ว เชื่อว่าการประชุมจะเป็นการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล โดยสาธารณชนจะได้รับฟังเหตุผลนี้ด้วย นายประสพสุข กล่าวอีกว่า เท่าที่ติดตามสถานการณ์ขณะนี้ โดยภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าใด เพราะรัฐบาลมีท่าทีล่าสุดในทิศทางประนีประนอม โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศถึงทางออกของปัญหาถือเป็นท่าทีที่ดี ที่คิดว่าอาจทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาในการยุบสภาลดลงจาก 9 เดือน นายประสพสุข กล่าวว่า เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นทางออกได้ เพราะเป็นเหตุเป็นผลที่จะนำไปเจรจากันได้ ทราบว่าขณะนี้มีผู้เป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม เพียงแต่ยังไม่เปิดเผย หากมีทางออกที่ดีจะทำให้สถานการณ์สงบ ส่วนตัวไม่คิดว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรีจะเป็นเพียงการให้ความหวัง เพราะปัญหาปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้


NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

Blog Archive