Monday, November 5, 2012

'เสธ.อ้าย'อัด'โอ๊ค'เพ้อเจ้อ ปูดข่าวลอบฆ่า'ทักษิณ'

'เสธ.อ้าย'อัด'โอ๊ค'เพ้อเจ้อ ปูดข่าวลอบฆ่า'ทักษิณ'
Pic_303909 “เสธ.อ้าย” สวน “โอ๊ค พานทองแท้” เพ้อเจ้อปูดข่าวลอบสังหาร “ทักษิณ” ที่พม่า ตอกเป็นเรื่องเลอะเทอะ การขนอาวุธเข้าพม่าทำได้ยาก หากทำจริงได้ถูกฆ่าทิ้งก่อน ปฏิเสธจัดม็อบรอบสอง ในวันที่ 25 พ.ย. ตามที่ "พร้อมพงศ์" กล่าวอ้าง

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม กล่าวถึงกรณีที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีขบวนการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย.นี้ โดยผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังเป็นขาเก่าเจ้าประจำ คนดี คนเดิม โดยเชื่อมโยงจากกรณีที่มีการจับกุมชนกลุ่มน้อย และพบอาวุธสงครามจำนวนมาก ว่าเป็นการกุข่าวและเป็นข่าวโคมลอยมากกว่า เพราะคนไทยจะเอาอาวุธข้ามไป จ.ท่าขี้เหล็กได้อย่างไร เนื่องจากทางการพม่าเข้มงวดเป็นอย่างมาก และเป็นการเพ้อเจ้อที่ระบุว่ายังมีขบวนการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะด่านชายแดนพม่ามีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก จะเอาอาวุธเข้าไปได้อย่างไร อีกทั้งเขาต่อสู้กับชนกลุ่มน้อยอยู่ และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่การกุข่าวเพื่อให้เกิดการสงสารหรือเห็นใจ มากกว่า และยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มตน เนื่องจากกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามได้ชุมนุมอย่างเปิดเผย

“ผมไม่ เชื่อข่าวนี้ ผมว่าเป็นข่าวเลอะเทอะ ทางพม่าเขาคงไม่ยอมให้เอาอาวุธเข้าไปสังหารใครก็แล้วแต่ในประเทศเขาได้ และผมไม่ทราบรายละเอียดว่า คนดีคนเดิมจะลอบสังหารคุณทักษิณ ตามที่นายพานทองแท้กล่าว แต่ผมยืนยันว่าไม่เชื่อข่าวนี้ คนจะขนอาวุธเข้าไปพม่าเพื่อสังหารคุณทักษิณ ผมไม่เชื่อ พม่าเข้มงวดจะตาย ใครขนอาวุธเข้าไปก็มีแต่ตาย แต่ถ้าเป็นอาวุธของพม่าที่อยู่ที่นั้นผมไม่รู้ พม่ามีตาเป็นสับปะรด ถ้าเอาจริงเขาจับได้เขาฆ่าทิ้งเลย” พล.อ.บุญเลิศ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่ากลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจะนัดชุมนุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ พล.อ.บุญเลิศ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การพิทักษ์สยามยังไม่ได้กำหนดวันชุมนุมครั้งที่ 2 ที่แน่นอน แต่จะเป็นวันใดก็ได้ เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมที่แน่นอนอยู่ ว่าจะมีจำนวนเท่าใดจากทุกจังหวัด เนื่องจากมองว่าหากมีการชุมนุมครั้งที่ 2 แล้วมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนไม่ถึงล้าน หรือใกล้เคียงหลักล้าน การชุมนุมก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะจะสู้รัฐบาลไม่ได้ ส่วนกรณีที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค แสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้น ตนพร้อมรับฟังทุกความเห็น รวมถึงความเห็นของนายพิชัยที่เลิกเล่นการเมืองไปแล้วนั้น ตนก็รับฟังไว้แต่คงจะไม่นำมาเป็นเหตุผลการพิจารณาถึงการชุมนุมครั้งที่ 2

วุฒิฯผ่านร่างพรบ.ปชช.เข้าชื่อลดเหลือ 1หมื่น เสนอกม.ได้

วุฒิฯผ่านร่างพรบ.ปชช.เข้าชื่อลดเหลือ 1หมื่น เสนอกม.ได้
Pic_303916 วุฒิสภา ผ่านพ.ร.บ.ปชช.เข้าชื่อเสนอ ก.ม.ได้ ลดสเปกจากต้องเข้าชื่อ 5 หมื่นเหลือหมื่นเดียว พร้อมกำหนดโทษปลอมลายเซ็นติดคุก 10 ปี เตรียมส่งคืนสภาฯ
วันที่ 5 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนางพรทิพย์ โล่วีระ จันทร์รัตน์ปรีดา รองประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขเนื้อหาที่กำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการรวบรวมการเข้าชื่อของผู้มี สิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ จากเดิมต้องใช้ 5 หมื่นชื่อ ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและใช้หลักฐาน รับรองเพียงสำเนาบัตรประชาชน

รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูป กฎหมายหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ช่วยประชาชนจัดทำร่างกฎหมายด้วย

ทั้ง นี้ ในการประชุมมีการถกเถียงกันถึงบทลงโทษตามมาตรา 13 และ 14 ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่ปลอมแปลงเอกสารและลายมือชื่อและใช้ทรัพย์สินจูงใจ หรือ ใช้อิทธิพลขู่เข็ญให้ผู้ใดร่วมลงชื่อ ต้องโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับ 1-2 แสนบาท

โดยกรรมาธิการวิสามัญฯเสียงข้างมาก ต้องการให้ตัดออกเพราะเห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของประชาชน

โดย พล.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.สรรหากล่าวว่า การตัดบทกำหนดโทษดังกล่าว จะเป็นอันตรายต่อระบอบ ประชาธิปไตย เพราะจะเปิดช่องให้มีการคอรัปชันอำนาจ โดยการจ้างวานหรือปลอมแปลง รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่อาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองมีการแบ่งสีแบ่งขั้วอยู่ในขณะนี้จึงไม่เห็นด้วย ที่ตัดบทบัญญัตินี้ออก แต่เห็นด้วยหากจะลดอัตราโทษได้

ที่สุดที่ ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมาก ไม่ให้ตัดบทกำหนดโทษออกจากนั้น มีมติรับ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 99 ต่อ 2 เสียง โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะส่งร่างพ.ร.บ.คืนให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาว่า จะเห็นด้วย กับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากสภาฯไม่เห็นด้วย ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันของสองสภาฯพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกันต่อไป

Blog Archive