Sunday, December 16, 2012

โพลชี้ทักษิณออกช่อง 11 เรื่องการเมือง-พยายามเอาชนะ

โพลชี้ทักษิณออกช่อง 11 เรื่องการเมือง-พยายามเอาชนะ
เอแบคโพลล์เผย ทักษิณ ออกทีวีช่อง 11 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.4 เห็นเป็นเรื่องการเมือง เป็นการพยายามเอาชนะคะคานกันเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเด็นร้อนทางการเมือง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกทีวีสดช่อง 11 สิ่งที่อยากได้จากทุกฝ่ายในสังคมช่วงเวลาที่เหลืออยู่ปี 2555 โดยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,112 ตัวอย่าง และอีก 16 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,195 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 15 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ทราบจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงเวลาออกทีวีสดช่อง 11 พบว่า ร้อยละ 43.1 ทราบและจำได้ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี อย่างไรก็ตามร้อยละ 11.9 ทราบแต่คิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบ แต่เห็นคนวิจารณ์กันว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 14.2 รู้สึกเฉยๆ ตามลำดับที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หลังออกทีวีสดช่อง 11 กลายเป็นเรื่องการเมือง ต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะคะคานกัน ทีใครทีมัน ต่างสร้างกระแสเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน กลบลบจุดอ่อนทางการเมืองของฝ่ายตน ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ระบุไม่ใช่เรื่องการเมือง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.2 ระบุ ควรให้ทุกอย่างจบเร็ว เพราะไม่ควรนำสถาบันฯ และไม่ควรนำเรื่องความจงรักภักดีเข้ามาสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เพราะต้องการให้หยุดพูด หยุดวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข เพราะเกรงจะยืดเยื้อบานปลาย และเป็นเพียงเรื่องที่ควรให้โอกาส พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้แสดงออกเรื่องความจงรักภักดีบ้าง และทุกคนเคยผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้นจึงควรให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวกัน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 43.8 ระบุควรตรวจสอบขยายผล เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม มีหน่วยงานรัฐร่วมรู้เห็นเป็นใจ เป็นต้นที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงการกระทำและคุณธรรมที่อยากได้มากที่สุดจากทุกฝ่ายในสังคมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2555 เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าและตลอดไป พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 33.9 อยากได้รอยยิ้ม น้ำใจไมตรีจิตต่อกัน ความรักความสามัคคีของคนในชาติ อันดับสองหรือร้อยละ 25.5 อยากให้ทุกฝ่ายให้อภัยต่อกัน มีเมตตาปรานีต่อกัน ร้อยละ 16.1 อยากให้มีความกล้าหาญ เสียสละ ร้อยละ 9.5 อยากเห็นความกตัญญู รองๆ ลงไปคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย และอื่นๆ เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ การรู้จักยับยั้งชั่งใจ อย่างไรก็ตาม “คำเตือน” เงื่อนไขพึงระวังจะทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พบว่า ร้อยละ 60.4 ระบุเป็นปัญหาปากท้อง /ของแพง ร้อยละ 57.4 เกิดการทุจริตคอรัปชันอย่างกว้างขวาง ร้อยละ 51.2 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 49.1 ระบุพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 47.0 ระบุการเลือกปฏิบัติเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่เป็นธรรม และร้อยละ 40.2 เกิดการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ เป็นต้น ขณะที่ความรู้สึกของประชาชนต่อสิ่งที่นักการเมืองกำลังอยากจะทำในกระแสข่าวเวลานี้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายปรองดอง คดีความทางการเมือง คดีอาญาของนักการเมือง เป็นต้น พบว่า ร้อยละ 42.3 อยากให้จบเร็ว เพราะ เบื่อ เครียด เซ็ง เพราะจะได้ใช้เวลาทำมาหากิน อยากเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด และช่วยกันแก้ไขต่อไป  ยิ่งช้ายิ่งวุ่นวาย ไม่อยากวกวนกันอยู่อย่างนี้ รู้สึกอึดอัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.6 อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะบ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย ไม่ต้องรีบร้อน จะได้ปรับตัวได้ เป็นต้น และร้อยละ 16.1 ปล่อยวาง ไม่อยากยุ่งเกี่ยว อยากทำอะไรก็ทำไปตามลำดับ

พท.ยันไม่ชี้นำประชามติ อ้างปชป.ขู่ฟ้องดีเอสไอเข้าข่ายกดดันจนท.รัฐ

พท.ยันไม่ชี้นำประชามติ อ้างปชป.ขู่ฟ้องดีเอสไอเข้าข่ายกดดันจนท.รัฐ
เพื่อไทยเดินหน้าหนุนทำประชามติ ยันไม่มีการชี้นำ ใช้งบ 2 พันล้านไม่สูญเปล่าหากได้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ อัด ปชป.ขู่ฟ้องดีเอสไอ อ้างเข้าข่ายกดดัน จนท.รัฐ ...เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 ธ.ค.ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุม ส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อหารือเรื่องการทำประชามติก่อนลงมติวาระ 3 เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยลดความขัดแย้งทั้งในและนอกสภา และให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ทั้งนี้จะมีการชี้แจงให้ประชาชนทราบ โดยให้สมาชิกทำความเข้าใจกับประชาชนทุกพื้นที่ถึงเจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้สมาชิกรณรงค์ให้ประชาชนออกเสียงประชามติอย่างอิสระ พรรคจะไม่ชี้นำการลงประชามติซึ่งจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 23 ล้านเสียง และจะต้องมีผู้ออกเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 11.5 ล้านเสียง ส่วนกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าการทำประชามติเป็นการสูญเปล่า เปลืองงบประมาณถึง 2 พันล้านบาท เท่ากับการใช้งบประมาณในการเลือกตั้งนั้น ถ้าสามารถลดความขัดแย้งและประชาชนได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญที่แท้จริงก็ยินดี เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และหากให้โหวตวาระ 3 โดยไม่มีการทำประชามติก็จะถูกกล่าวหาว่าพวกมากลากไป ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์อย่าทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองปกป้องรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ขู่ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เข้าข่ายข่มขู่และกดดันการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะนายธาริตเป็นอธิบดีดีเอสไอและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดี 99 ศพ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี ควรให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เลิกข่มขู่คุกคามดีเอสไอได้แล้ว เพราะการฟ้องอธิบดีดีเอสไอทำให้ประชาชนมองว่าเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี รวมทั้งขอให้ยุติการขู่ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกรณีที่ปรากฏภาพนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพขณะพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบข้อกล่าวหา เพราะเป็นขั้นตอนทั่วไปของกระบวนการยุติธรรม

ส.ว.เลือกตั้งค้านทำประชามติหนุนแก้รายมาตรา

ส.ว.เลือกตั้งค้านทำประชามติหนุนแก้รายมาตรา
ส.ว.เลือกตั้งค้านทำประชามติเดินหน้าลุยแก้รายมาตรา หนุนแก้ไขหมวดยุบพรรค และปลดล็อก ส.ว.เลือกตั้งให้ลงสมัครติดต่อกันได้ ปัดทำเพื่อประโยชน์ตัวเองวันที่ 16 ธ.ค.​ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงผลสรุปพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้จัดทำประชามติก่อนลงมติโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะลงประชามติ เพราะเป็นการเสียเงิน 2-3 พันล้านบาทโดยเปล่าประโยชน์ เป็นเพียงการเอาชนะคะคานกันเท่านั้น ความจริงการโหวตวาระ 3 ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ และการแก้แบบรื้อเกือบทั้งฉบับตามแนวทางของรัฐบาล ยังไม่เหมาะสมที่จะทำในช่วงปีสองปีนี้ เพราะความขัดแย้งยังอยู่ ทำไปก็มีปัญหา ซึ่งคงมีการหารือกันในกลุ่ม ส.ว.ว่าจะเอาอย่างไร นายสิงห์ชัย กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าจะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา อาทิ ในหมวดว่าด้วยเรื่องยุบพรรค และหมวดการปลดล็อก ส.ว.เลือกตั้งให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ติดต่อกัน โดยไม่ต้องเว้นวรรค แต่ต้องหารือกันก่อนว่าจะทำได้ในรูปแบบไหน เพราะยังมีวาระ 3 ค้างสภาอยู่ ส่วนกรณีที่มีการมองว่าเราทำเพื่อประโยชน์ตัวเองนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ เราแค่ต้องการความเป็นธรรมให้ ส.ว.เลือกตั้งบ้าง และไม่น่ามีปัญหาเพราะก็ทำเหมือนสมัยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยทำมา และเชื่อว่าหลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยนิติบัญญัติ ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.นี้ น่าจะยื่นเข้าสภาได้

Blog Archive