Sunday, February 3, 2013

มาร์คยันสุเทพไม่ใช่ต้นเหตุผู้รับเหมาทิ้งงานสร้างโรงพัก

มาร์คยันสุเทพไม่ใช่ต้นเหตุผู้รับเหมาทิ้งงานสร้างโรงพัก
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์ ออกโรคป้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุไม่ใช่ต้นเหตุผู้รับเหมาทิ้งงานสร้างโรงพัก อ้างเป็นหน้าที่หน่วยงานที่บริหารสัญญา และ ผบ.ตร.  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ จากกรณีอนุมัติการก่อสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)นั้น ว่า นายสุเทพกำลังเตรียมข้อมูลที่จะดำเนินการอยู่ ซึ่งตนเคยพูดกับนายสุเทพไปแล้วว่า มีโอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งนายสุเทพ บอกว่าจะดำเนินการ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะเป็นการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเองก็ยอมรับว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นและเป็นโครงการที่ดี ส่วนรายละเอียดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก็มีลำดับอำนาจหน้าที่อยู่ ซึ่งนายสุเทพก็อนุมัติตามที่หน่วยงานเสนอทุกครั้ง และไม่ได้มีอะไรผิดปกติต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการฮั้วเพราะเสนอราคาต่ำกว่ากันมาก ส่วนปัญหาการทิ้งงานที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการบริหารสัญญา ถ้าหากมีผู้ประมูลแล้ว ทำไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องบริหารสัญญาว่าจะแก้ไขอย่างไร อยู่ในอำนาจของ ผบ.ตร.ที่ผ่านมาหลายคนใน 2 รัฐบาล ดังนั้น จึงไม่ใช่อำนาจของรองนายกฯ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดเพราะต้องไปดูว่า ถ้าผู้ประมูลทำไม่ได้แล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่ที่มีการโยงมาถึงตัวนายสุเทพ ก็เห็นชัดเจนว่าหลายเรื่องที่ดีเอสไอกำลังดำเนินการอยู่ก็พยายามที่จะโยงมาให้ถึงพวกตนทั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าว.

เจ้าพ่อคอมมาร์ต กระซิบดังๆ ถึง(ว่าที่)ผู้ว่าฯ ขอพื้นที่ให้คนกทม.ใช้ชีวิต!

เจ้าพ่อคอมมาร์ต กระซิบดังๆ ถึง(ว่าที่)ผู้ว่าฯ ขอพื้นที่ให้คนกทม.ใช้ชีวิต!
ฝากถึงบรรดาผู้สมัครฯ ระวังใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กผิดวิธี ทำคะแนนเสียงหดล้วงมุมมองคนไอทีตัวจริงอย่าง ปฐม อินทโรดม เจ้าพ่องานคอมมาร์ตเมืองไทย ฝากผู้ว่า กทม. คนที่ 16 เร่งคลายปมปัญหารถติด แนะระวังภัยใช้โซเชียลเรียกคะแนนกลายเป็นทำร้ายตัวเอง วอนหนุนเอกชนเดินหน้าไอที...นายปฐม อินทโรดม กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานคอมมาร์ต เปิดเผยว่า สิ่งที่ชอบที่สุดใน กทม. ตอนนี้ คือชอบที่มีแหล่งให้ความรู้ต่างๆ มากขึ้นทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แม้บางแห่งจะไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. แม้จะมีบางแห่งปิดไป เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก ซึ่งคิดว่าอาจปิดปรับปรุงจึงขอเอาใจช่วย เพราะคิดว่าคนกรุงเทพฯ​ ไม่ได้ต้องการแค่สวนสีเขียว แต่เราขาดแหล่งให้ความรู้กับเยาวชนซึ่งยังสามารถทำได้อีกมากเรื่องที่ไม่ชอบใน กทม. และคิดว่าคนอื่นๆ คงคิดเหมือนกันก็คือปัญหาการจราจร คน กทม. ควรมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ปัจจุบันเราออกเดินทางกันแบบไม่มีทางเลือก แม้จะมีแอพพลิเคชั่นให้ได้ตรวจสอบสภาพการจราจรก่อนเดินทาง แต่อย่าลืมว่าประชากรในกรุงเทพฯ ทุกคนไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ควรมีระบบสื่อสารกับประชาชนที่ดีกว่านี้ ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถปรับปรุงปัญหาการจราจรหรือหาทางหลบเลี่ยงได้ เพราะปัญหาจราจรเป็นเรื่องใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ผมคิดว่ามีทางแก้อยู่หลายทาง การให้ข้อมูลเป็นทางออกทางหนึ่ง คนจำนวนไม่น้อยไม่เร่งรีบกับชีวิต บางคนรู้ว่าช่วงเวลานี้รถกำลังติดแม้ถึงเวลาเลิกงาน แต่เขาก็ยังไม่ออกเดินทางในช่วงนั้นแต่เลือกที่จะรอให้รถคล่องตัวก่อน ควรมีการจัดการข้อมูลที่ทำได้ดีกว่านี้ จะหวังพึ่งแต่ จส.100 สวพ.91 แค่นี้ไม่ได้ ต้องมีช่องทางอื่น ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเป็นส่วนเสริมได้อีกมาก ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีก็อย่าผูกติดแค่ทำเป็นแอพพลิเคชั่นเพราะคนใช้งานน้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าผู้ว่าฯ คนต่อไปควรใส่ใจให้มากกรุงเทพฯ ในอนาคตต้องน่าอยู่ โดยส่วนตัวคิดว่าหากมองประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนว่าเขารวยกว่าประเทศเรามาก เช่น สิงคโปร์ ซึ่งในอดีตเขาเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ แม้ว่าเมืองเขาจะสวย สะอาดตา พื้นที่สีเขียวเยอะแต่ไม่น่าอยู่เพราะว่าเครียด เป็นเมืองที่เหมาะแก่การทำงาน คนจึงไม่รู้สึกรีแลกซ์กับเมือง กรุงเทพฯ พยายามพัฒนาอะไรมาหลายอย่าง คำว่าน่าอยู่สำหรับผมคือการมีอะไรที่เหมาะกับแต่ละคน แต่ละวัย แต่ละกลุ่ม เราเป็นเมืองหลวงที่พยายามพัฒนาระบบสาธารณูปโภค แต่จะให้มองเพียงแค่นั้นไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าการพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจทำให้อีกหลายด้านด้อยคุณภาพลง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ก็มีการเพิ่มพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ ซึ่งเป็นด้านดี พูดง่ายๆ คือ กรุงเทพฯ​ ควรมีครบทั้งความความรู้ ความบันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจ นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนในเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงฝากถึงผู้สมัครทุกท่าน แทนที่จะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อเรียกคะแนนให้คนไปเลือก แต่ปีนี้ อาจกลายเป็นการใช้เพื่อกระตุ้นให้คนไม่เลือกคุณได้เช่นกัน ผลลบจากการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งนี้แรงกว่าที่คิด และสำหรับเรื่องอื่นๆ ก็อยากจะฝากว่า อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่ามาพูด เพราะมันยิ่งทำให้คุณมีแต่เสียกับเสีย โดยเฉพาะเรื่องไฮเทคทั้งหลาย ความเห็นส่วนตัวผมคือเอกชนเขาทำได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องจำเป็นต้องทำอะไรทับซ้อนหรือเอื้อให้เขา เพราะเขามีความเพียบพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องแข่งขันหรือไปเอาหน้าจากเขามาสนับสนุนเขาดีกว่าครับ นายปฐม กล่าว.

โสภณ ลุย ร.ร.เทพศิรินทร์ หาเสียงในฐานะศิษย์เก่า

โสภณ ลุย ร.ร.เทพศิรินทร์ หาเสียงในฐานะศิษย์เก่า
โสภณ หมายเลข 4 เสนอพัฒนาตลาดน้ำ พร้อมลุย ร.ร.เทพศิรินทร์บ่ายนี้ในฐานะศิษย์เก่า... ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 กล่าวถึงนโยบายสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ได้ไปร่วมตักบาตรและหาเสียง ณ ตลาดน้ำขวัญเรียม จึงเสนอแนวคิดต่อการพัฒนาตลาดน้ำว่า เพื่อร่วมรักษาวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สิ่งที่เข้าใจก็คือการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นความพึงพอใจ ความสุขสบายใจ ความตื่นเต้นและสิ่งเร้า เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าใช้อารมณ์มากกว่า และมีลักษณะตามฤดูกาล จึงต้องมีการบริหารที่ดี ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจึงควรส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากตัวตลาดก็คือการเชิญชวนมาท่องเที่ยวต่อเนื่อง การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การบริการในระหว่างการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพึงส่งเสริมการเที่ยวชมศาสนสถาน โบราณสถานเก่าแก่ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การพายเรือ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้ค้ารายย่อย บริการสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดส่งสินค้า ฯลฯ โดยเน้นการส่งเสริมสร้างความรู้จักต่อเนื่อง การบริหารจัดการพื้นที่ เช่น การดูแลค่าเช่าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การให้ข้อเสนอแนะต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะเป็นหลักประกันคุณภาพและเป็นการสร้างแบรนด์ในระยะยาวให้กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบบ้านๆ ที่ต้องอาศัยการจัดการแบบมืออาชีพ ซึ่งองค์กรชาวบ้านเองก็ดำเนินการได้ภายใต้การสนับสนุนของ กทม. ในส่วนนโยบายการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข ปัจจุบันปัญหาของศูนย์คือกำลังคนมีน้อย ไม่เพียงพอ เครื่องมือแพทย์ค่อนข้างเก่ามาก ยาและการจ่ายยาก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกวันนี้ ศูนย์จึงเปิดบริการเฉพาะวันจันทร์-พฤหัสฯ ในขอบเขตงานที่จำกัดมาก และมีจำนวนลำดับผู้ใช้บริการที่จำกัดมาในแต่ละวัน ส่วนวันศุกร์ก็มักไม่รับคนไข้ และในช่วงบ่ายก็จะหยุดให้บริการโดยปริยาย ข้อเสนอคือการเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ให้มีเพียงการตั้งศูนย์อยู่ในทางกายภาพ แต่ควรมีการทำหน้าที่ที่ดีด้วยการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เก่าไปเสีย เร่งรัดขั้นตอนการซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ในสำนักงาน ซื้ออุปกรณ์ใหม่ และมีสำรองไว้เพื่อใช้สอย และหรือเช่า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน สำหรับในระยะยาว ดร.โสภณ เสนอให้พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยอาจเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่เกิน 20 เตียง เพื่อขยายโอกาสการรักษาพยาบาลแก่ชาวกรุงเทพมหานคร หรืออย่างน้อยอาจเน้นการรับผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึง กทม. ยังควรเสริมบุคลากรเพิ่มเติมในศูนย์ เช่น ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลภาคสนาม เพื่อการให้บริการในเชิงรุกในพื้นที่ในด้านการสาธารณสุขในมิติต่างๆ นอกเหนือจากการรอให้บริการเท่านั้นนอกจากนี้ได้ชูนโยบายการเติบโตของเมืองอย่างชาญฉลาด (เมืองชาญฉลาด หรือ Smart Growth) มากระจายความเจริญในใจกลางกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ชานเมืองที่สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่เพียงพอ โดยแนวคิดนี้คือการพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl) และทำให้ศูนย์กลางเมืองในย่านชานเมืองมีความอยู่ตัวในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงใจกลางเมือง ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้ เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป 
 
สำหรับกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในวันนี้ (4 ก.พ.) เวลา 10.00 น. จะลงพื้นที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อชมต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการใช้สอยพื้นที่เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างหนาแน่นแต่ไม่แออัดในบริเวณดังกล่าว และพาชมอาคารสูงสำหรับผู้มีรายได้น้อย จากนั้นในเวลา 12.00 น. ลงพื้นที่บริเวณโรงเรียนเทพศิรินทร์ ถ.กรุงเกษม โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย จะไปหาเสียงในฐานะนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร.

Blog Archive