Sunday, January 20, 2013

ชิงผู้ว่าฯกทม.คึกคัก 9 ว่าที่ผู้สมัครพร้อมลงสนาม

ชิงผู้ว่าฯกทม.คึกคัก 9 ว่าที่ผู้สมัครพร้อมลงสนาม
9 ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พร้อมลงสนามสมัครเลือกตั้ง เช้าตรู่ 21 ม.ค. 3 ตัวเต็ง จาก 2 พรรคใหญ่เดินเครื่องหาเสียง  วันที่ 20 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 21-25 ม.ค.2556 และเลือกตั้งวันที่ 3 มี.ค.ว่า จากการตรวจสอบกับผู้สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับการยืนยันแล้วทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 2.นายสุหฤท สยามวาลา 3.นายโฆสิต สุวินิจจิต 4.ร.อ.ดร.เมตตา เต็มชำนาญ 5.นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง 6.นายวรัญชัย โชคชนะ 7.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 8.นายโสภณ พรโชคชัย และ 9.พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทยส่วนการหาเสียงวันนี้ 2 ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคใหญ่ยังคงเดินหน้าหาเสียงอย่างเข้มข้น โดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ว่าที่ผู้สมัครฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่ อ.ต.ก. ตลาดนัดจตุจักร พร้อมเข้าพูดคุยรับฟังข้อเสนอแนะจากพ่อค้าแม่ค้า และผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของ ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปหาเสียงที่สวนลุมพินี โดยมีผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจเช่นกัน โดยได้ทักทายกับ นายโฆสิต สุวินิจจิต ว่าที่ผู้สมัครอีกคน ที่มาหาเสียงและพบกันโดยที่ไม่ได้นัดหมาย ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ว่าที่ผู้สมัครฯ อิสระ ได้เดินทางมาหาเสียงที่ตลาดนัดสวนหลวง ร.9 ทั้งนี้ คาดว่าผู้สมัครทุกคนจะเดินทางไปสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรุ่งนี้ (21 ม.ค.) แต่เช้าตรู่.

ญาติวีรชนพฤษภาทมิฬขอทุกฝ่ายหนุนออก พ.ร.บ.นิรโทษฯความผิด ปชช.

ญาติวีรชนพฤษภาทมิฬขอทุกฝ่ายหนุนออก พ.ร.บ.นิรโทษฯความผิด ปชช.
กลุ่มญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ เตรียมขอ “สภา-รัฐบาล-ผู้นำฝ่ายค้าน” หนุน ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมความผิด ปชช. เข้าร่วมชุมนุมการเมือง พร้อม จี้ “ธาริต” ออกตำแหน่งจนกว่าผลสอบเสร็จเมื่อวันที่ 20 ม.ค.เวลา 13.30 น.นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนฯ แถลงเรียกร้องให้ทุกกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติความขัดแย้งในประเทศไทยช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ สร้างประชาธิปไตยเพื่อประชาชนที่แท้จริง ไม่ให้กลับไปสู่ทางตัน หรือเป็นเรื่องเฉพาะประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใดการเมืองหนึ่ง โดยเรียกร้องให้รัฐบาล ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ออกเป็น พ.ร.บ.แทนการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ตามข้อเสนอของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อยกเลิกความผิดให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ.2548-พ.ศ.2553 โดยยกเว้นแกนนำกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำเหล่าทัพ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง และนำไปสู่ความปรองดองของภาคประชาชนอย่างแท้จริง“ภายในสัปดาห์หน้าทางคณะกรรมการญาติวีรชนฯ จะเคลื่อนไหวเพื่อขอการสนับสนุนประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้สนับสนุนการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เฉพาะประชาชน เพราะเกรงว่าถ้าออกเป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ถึงแม้จะเร็วจริง แต่เชื่อว่าจะมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่หากเข้าสภาก็จะพูดคุยกันก่อนที่ออกมาเป็นกฎหมาย ผมเชื่อว่าจะดีกว่าเพราะทำเพื่อประชาชนจริงๆ” นายอดุลย์กล่าวนายอดุลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ยังขอเรียกร้องให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เนื่องจากนายธาริตเคยเป็นคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้-เสียในคดี อาจใช้อำนาจแทรกแซงในการทำคดีต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้อีกทั้งเกรงว่าเมื่อผลทางคดีออกมาแล้วจะไม่เป็นที่ยอมรับกับสังคม ซึ่งจะเป็นการซ้ำรอยกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ขอเรียกร้องไปยังแกนนำคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงทั่วประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ช่วยบอกรัฐบาลว่าต่อไปนี้ต้องดำเนินการเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยเร็ว หยุดการกระทำคอรัปชันจากนโยบายของรัฐ ให้หันมาทำเรื่องของประชาชนอย่างจริงจัง

โพลบ้านสมเด็จ ชี้ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.

โพลบ้านสมเด็จ ชี้ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.
โพลบ้านสมเด็จ ชี้คนส่วนใหญ่ (32.21%) ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ต้องรอใกล้วันลงคะแนน 3 มี.ค. ก่อน ยันความซื่อสัตย์-สุจริต คือสิ่งที่คนกรุงอยากได้จากผู้ว่าฯ มากที่สุดวันที่ 20 ม.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของประชาชน (ก่อนการรับสมัคร) ในประเด็นของการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 – 25 มกราคม 2556 และมีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม 2556ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1. กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย 2. สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร 3. แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ 4.บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย 5.วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ 6.อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และกฎหมายอื่นๆ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่จะเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนประมาณ 46,000 ล้านบาทนายสิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการโครงการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า จากการที่ผู้สมัครอิสระ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศตัวลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นคนแรก และมีผู้สมัครอิสระทยอยเปิดตัวเป็นผู้สมัครไม่ว่าจะเป็น คุณโฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้บริหารสถานีข่าวสปริงนิวส์ และอดีตประธานบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ คุณสุหฤท สยามวาลา ผู้บริหารบริษัท และดีเจ รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศส่ง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัคร และพรรคเพื่อไทย ประกาศส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 49 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากในการใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญกับการหาเสียงผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ในการประชาสัมพันธ์ทางการเมือง ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ขนาดป้ายหาเสียงข้างถนนยังมีการให้ผู้พบเห็นไปติดตามในโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (Youtube) อินสตาแกรม (Instagram) กูเกิลพลัส (Googel+) ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สร้างแฟนเพจ (Fanpage) ในเฟซบุ๊ก (Facebook) เพราะการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สามารถสื่อสารกับประชาชนผู้สนับสนุนได้โดยตรง และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันในเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) มากที่สุดในโลกอย่างกรุงเทพมหานครซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครคิดว่า ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มากที่สุดร้อยละ 32.21 อันดับสองคือ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 26.43 อันดับสามคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 19.30 อันดับที่สี่คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 14.00 และอันดับที่ห้าคือ สุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 3.16กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์ โปร่งใส ร้อยละ 40.22 มากที่สุด รองลงมาคือมีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 18.49 อันดับสามคือมีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 13.12ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครอยากให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาการจราจร ร้อยละ 42.29 มากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ร้อยละ 21.31 อันดับสาม คือ ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 16.42และนโยบายที่อยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ด้านการจราจรและขนส่งมวลชน 25.09 อันดับสอง คือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 23.67 อันดับสาม คือ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 21.45

Blog Archive