Monday, March 25, 2013

ประพันธ์กำชับจนท.วางตัวเป็นกลาง เลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่

ประพันธ์กำชับจนท.วางตัวเป็นกลาง เลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่
“ประพันธ์” กำชับ จนท.วางตัวเป็นกลาง จัดเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 เตือนระวังการหาเสียงติดช่วงสงกรานต์ส่อผิด ก.ม.เลือกตั้ง ชี้ 2 คำร้อง กกต.กทม.พิจารณารับรอง “ชายหมู” เข้าที่ประชุม กกต.กลาง 27 มี.ค.นี้...วันที่ 25 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 3 จ.เชียงใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างว่า ในการประชุมจะได้ซักซ้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.55 กกต.ได้ใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 10.2 ล้านบาท คาดว่าการจัดการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้น่าจะใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ให้วางตัวเป็นกลาง ยึดหลักของกฎหมายเป็นที่ตั้ง เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันกันสูง อย่างไรก็ตาม กกต. จะพยายามรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันมากๆ และขอให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และระวังอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนที่การหาเสียงอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ก็ขอให้ระวัง เพราะในช่วงเทศกาลดังกล่าวจะมีการจัดงานรื่นเริง ใช้เครื่องขยายเสียงหรือมีของแจก ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งนี้จะเสนอให้ที่ประชุมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนป้องปรามหาข่าวลงพื้นที่ใน 3 อำเภอ ที่มีการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้ง เชื่อว่าน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนายประพันธ์ ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งนายกฯ อบต. 3 พันกว่าแห่ง ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่ามีการยิงนายกฯ อบต.ปราจีนบุรีเสียชีวิต ซึ่งได้รับรายงานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนายกฯ อบต.ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามฝากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าวด้วยนายประพันธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. โดยสำนักประชุมจะบรรจุวาระมติของ กกต.กทม.ที่ส่งสำนวนคำร้องคัดค้านผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 2 สำนวน เพื่อให้ กกต.กลางพิจารณา ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่าทั้ง 2 สำนวนมีรายละเอียดเนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องรอดูสำนวนก่อนว่าจะสามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้หรือไม่ หากการสืบสวนสอบสวนในประเด็นดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จก็ต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่ม และถ้าไม่ทันกำหนดระยะเวลา 30 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ทาง กกต.กลางก็จะประกาศรับรองการเลือกตั้งไปก่อน ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะประกาศรับรองผลภายในวันที่ 27 มี.ค.ได้หรือไม่.

ชวนนท์ตั้งข้อสังเกต ปูเยือนปาปัวฯ พัวพันธุรกิจพลังงานทักษิณ

ชวนนท์ตั้งข้อสังเกต ปูเยือนปาปัวฯ พัวพันธุรกิจพลังงานทักษิณ
ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกปชป. ตั้งข้อสังเกต นายกฯเยือนปาปัวฯ เชื่อ พัวพันธุรกิจพลังงาน แม้ว อ้าง ปตท.สผ. ระวังตกหลุมพราง บ.ผี รอปั่นหุ้น สูงเกินจริง 3 เท่า จี้ รัฐแจงความจริงวันที่ 25 มี.ค. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเยือนประเทศปาปัวนิวกินี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า การไปเยือนประเทศปาปัวนิวกินี ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในธุรกิจด้านพลังงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในการไปเยือนครั้งนี้ มีการนัดเจรจาธุรกิจ ระหว่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กับบริษัทอินเตอร์ออยส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอโอซี) ของประเทศปาปัวนิวกินี โดยมีการลงทุนทั้งหมด 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตนทราบมาว่า รัฐบาลชุดที่แล้ว ของปาปัวนิวกินี เคยยกเลิกสัมปทานของบริษัทไอโอซี เนื่องจาก ไม่มีความพร้อมด้านการลงทุน และไม่มีก๊าซธรรมชาติเหลวจริง แต่กลับไปได้สัมปทานจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของปาปัวนิวกินี และเป็นตัวแทนรัฐบาลที่จะไปเจรจากับ ปตท.สผ. และในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว เป็นการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อปั่นหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งในเว็บไซต์ของ ปตท.สผ.ได้มีการนำรูปภาพโครงการการลงทุนจากบริษัท ไอโอซี ซึ่งถือว่า มีความสอดคล้องกัน จึงขอให้ทาง ปตท.สผ. ตรวจสอบโครงการดังกล่าวให้ดี ว่าบริษัทไอโอซี มีประสบการณ์และมีการดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ เพราะมีความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างมาก โดยอาจจะเอื้อผลประโยชน์มหาศาล ให้กับใครบางคน นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็นในการเจรจาคือ 1. การลงทุนในครั้งแรก เป็นเหมือนการจองสิทธิ์ในการดำเนินงานสำรวจพลังงานของ ปตท.สผ. มีคนได้ค่านายหน้าจากการเจรจาดังกล่าวไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และ 2. หลังจากมีข่าวว่า บริษัท ไอโอซี จะมีการลงทุนกับบริษัทปิโตรเลียมของประเทศไทย ก็ได้มีการตั้งบริษัทเพื่อรองรับการลงทุนในครั้งนี้โดยเฉพาะ เพื่อจุดประสงค์ในการปั่นหุ้นในบริษัท ไอโอซี ให้สูงกว่าราคาตลาด 3 เท่า จริงหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากขอคำชี้แจงจากรัฐบาลไทยว่า การเจรจาดังกล่าว ไทยได้ประโยชน์อย่างไรหรือไม่ หรือเอื้อให้กับคนบางคน ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นข้อกังวลสงสัยของคนที่ติดตามข่าวคราว

ต้องถามใจตัวเอง...??

ต้องถามใจตัวเอง...??
พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค.นี้  ส่วนตัวเห็นว่า น่าจะผ่านสภาฯ ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ต้องขึ้นอยู่กับช่องทางการยื่นเข้ามาว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากวิธีการไม่ถูกต้อง รัฐบาลเองก็ต้องทำเสียให้ถูก ตามทำนองคลองธรรม เปรียบเสมือน การเปลี่ยนยานพาหนะ เมื่อนั่งมาไม่ถูกก็ต้องทำเสียให้ถูกก็น่าจะจบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงจะต้องดัน พ.ร.บ.ผ่านสภาฯ ให้ได้ เนื่องจากถือเป็นกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่าน ก็จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่รัฐบาลชุดนี้ แข็งแกร่งอยู่แล้ว จากคะแนนเสียงที่มีในสภาฯ ทั้งหมด จึงเชื่อว่าน่าจะผ่านโดยไม่ยากนัก 7คนกลุ่มเราเอง ต้องดูเหตุ ดูผล ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายค้าน หากไม่มีอะไรผิดปกติ ก็คงจะช่วยรัฐบาลอยู่แล้ว แต่หากมีข้อมูลอะไรที่ต้องนำมาพิจารณา ก็ว่ากันอีกที ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุว่า ไม่ขัดข้องในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเทศ แต่ขัดข้องที่จะยกวงเงินกู้ 2 ล้านล้าน ให้มาอยู่นอกงบประมาณประจำปี เนื่องจากเกรงว่า เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริต เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็สุดแท้แต่ ก็เห็นด้วย ให้ต้องตรวจสอบงบประมาณกันให้มากๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศทั้งหมดคือความในใจของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย ที่กล่าวกับ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาล เตรียมพร้อมที่จะมีการดัน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านสภาฯให้ได้ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถึงนาทีนี้ต้องถือว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ทั้งรัฐบาลเพื่อไทย และฝ่ายค้านปชป. ภาคประชาชน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจเอกชน เห็นด้วย ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแบบครบวงจร แต่สิ่งที่ยังเห็นแย้งกันอยู่ นั่นคือขั้นตอนการปฏิบัติ ที่ฝ่ายหนึ่งระบุว่า มีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย  ถึง 2 ล้านล้านบาทให้ได้ เพื่อนำมาใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เตรียมรับการเข้าสู่ AEC ประชาคมอาเซียนในปี 2558   ขณะที่อีกฝ่าย ขั้วการเมืองตรงข้าม ก็ออกมาชี้ให้ประชาชนได้เห็นว่า อาจไม่มีความจำเป็น ต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลถึงขนาดนั้น เพราะจะส่งผลถึงภาวะหนี้สินของประเทศ เป็นภาระที่ลูกหลานคนไทยในอนาคต ต้องหาเงินมาใช้หนี้ยาวนานถึง 50 ปีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แถมบลัฟกลับว่า ถ้าเป็นพรรคตนเป็นรัฐบาล จะทำการสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่ระบบขนส่งมวลชนระบบรางใน กทม. แบบไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ให้มาเป็นภาระให้ดูทั้งดักคออีกว่า เกรงจะเกิดการ ทุจริต-คอรัปชัน อย่างมโหฬาร เพราะไม่สามารถตรวจสอบ การใช้จ่ายเงินกู้ก้อนนี้ของภาครัฐได้ เนื่องจากมีการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และยังพลักเงินกู้ก้อนนี้ ให้ไปอยู่นอกงบประมาณประจำปี ทำให้ฝ่ายค้านตรวจสอบยากเรียกได้ว่า มีเหตุมีผล น่ารับฟังทั้ง 2 ฝ่าย นั่นเพราะการพัฒนาประเทศ ให้มีความเจริญ มั่นคง และมีความมั่งคั่ง ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศในโลก เป้าหมายเพื่อให้พี่น้องคนไทยทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน  นับเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ดังนั้นการกู้เงินมา เท่าที่จำเป็น  เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงนับเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ก็อย่างที่ทราบ เงินก้อนนี้ ถือเป็นเงินของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ต้องมีการจัดระบบการใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ก็ถือเป็นหน้าที่และมีความจำเป็น ที่ต้องมีระบบการตรวจสอบ ที่ทรงประสิทธิภาพไม่ให้เงินที่กู้มาก้อนนี้ เกิดรั่วไหล กลายมาเป็นเหยื่ออันโอชะ ของกลุ่มนักการเมือง หรือ นักธุรกิจ ที่ทรงอำนาจ ทรงอิทธิพล ทั้งหลาย อย่างที่พรรคฝ่ายค้าน พยายามกระตุ้นเตือนประชาชนอยู่ในขณะนี้  ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือการหาจุดที่ลงตัวให้ทั้งสองฝ่ายสามารถไปด้วยกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน แต่ต้องตั้งอยู่บนข้อแม้ว่า ประเทศชาติ และประชาชน จะต้องได้ประโยชน์สูงสุด นั่นคือ ฝ่ายรัฐบาล สามารถกู้เงินมาใช้บริหารจัดการประเทศ  ตามแผนที่วางไว้ได้  ส่วนฝ่ายค้านเอง ก็จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบงบประมาณที่เข้มข้น และทรงประสิทธิภาพ สามารถที่จะต้องสอบการใช้งบประมาณก้อนนี้ ได้อย่างเต็มที่ โดยต้องไม่มีกฎหมาย  ข้อบังคับ หรือ ข้อห้ามใดๆ มาเป็นอุปสรรคขัดขวางการตรวจสอบ ฉะนั้นถึงตอนนี้ก็อยากให้ ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้โอกาสนี้ ได้หันกลับไปถามใจตัวเองดูว่า ในที่นี้หมายถึงทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อาจนับรวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยก็ได้ว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง หรือ พวกพ้อง หรือ เพื่อเล่นการเมือง แบบหวังทำลายฝ่ายตรงข้าม มากจนเกินไป หรือไม่? ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ แม้ยอมรับว่า มีความจำเป็นแต่ก็ต้องถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยแต่ไหน ที่ต้องกู้เงินมากมายมหาศาล ถึง 2 ล้านล้านบาทเลยหรือ ยังมีหนทางอื่นที่ดีกว่านี้อีกหรือไม่?  หากเป็นไปได้ กู้ฯเอามาใช้เฉพาะแค่ที่จำเป็นก่อน เพราะจะอย่างไร ก็ส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยในอนาคตแน่ ไม่มากก็น้อย ขณะที่อีกฝ่าย ต้องถามใจตัวเองดูด้วยเช่นกันว่า ที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพราะเห็นว่า รัฐบาลกระทำการเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงทำประเทศเสียหาย เปิดช่องให้เกิดการทุจริต-คอรัปชันอย่างมโหฬาร ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องจริงๆ หรือไม่? หรือ แท้ที่จริงแล้ว ก็เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน ที่กลัวว่า หากอีกฝ่ายทำสำเร็จจริงๆแล้ว ฝ่ายตัวเอง จะต้องกลายเป็นฝ่ายค้านดักดานติดต่อกัน ไปอีก 4 สมัย  ยากที่กลับมาเป็นรัฐบาลได้ อย่างที่มีผู้อาวุโสในพรรค แสดงความคิดเห็นและสนับสนุนให้ ปชป.ต้องทำการปฏิรูปฯพรรค ออกมาตั้งสมมุติฐานเอาไว้   ทั้ง 2 ฝ่าย จึงสมควรต้องไปถามใจตัวเองดูว่า ลึกๆแล้วทำเพื่ออะไร...?? 

Blog Archive