Thursday, December 20, 2012

มาร์คแนะรัฐตั้งหลักใหม่ แก้รธน.ต้องก้าวข้ามคดีทักษิณ

มาร์คแนะรัฐตั้งหลักใหม่ แก้รธน.ต้องก้าวข้ามคดีทักษิณ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำรัฐตั้งหลักใหม่แก้ รธน. ลั่นพร้อมหารือทุกพรรคหาทางออกชาติ วอนสลัดทักษิณออกให้ชาติไปต่อได้...เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่โรงเเรมรามาดาพลาซ่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยหรือปรับปรุงระบบยังมีหลายวิธี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ จนเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะไปผูกติดกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถ้าตั้งหลักใหม่คุยกันระหว่างพรรคการเมือง ภาคประชาชนว่าจะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวม ตนว่าจะเดินหน้าได้ง่ายกว่า โดยเลิกแนวคิดเดิมที่จะรื้อทั้งฉบับก่อน เพราะมีฐานอยู่แล้ว เคยมีการศึกษาไว้ทั้งของวุฒิสภาและหลายคณะกรรมการว่ามี มาตราไหนที่เป็นปัญหาจะนำมาเป็นตัวตั้งก็ทำได้ เบื้องต้นต้องพูดเรื่องจริงก่อนว่า ถ้ายังไม่หยุดเรื่องพยายามจะล้างผิด อย่างไรก็สับสนและวุ่นวาย ให้หยุดก่อนทุกอย่างจะคุยได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่จบเหมือนกับกฎหมายล้างผิดที่เสนออยู่ในขณะนี้ อ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว แต่แท้จริงแล้ว สภาคือเสียงข้างมากคือผู้สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้น นายกฯ เป็นผู้กำหนดได้ ซึ่งจะโยนความรับผิดชอบให้สภาไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนเดียวกันต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าต้องการทำอะไรนายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การนำประชามติมาเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งทางความคิด สามารถทำได้ แต่คำถามต้องชัด รวมถึงเป้าหมายด้วยว่า ทำแล้วนำไปสู่อะไร ฉะนั้น ถ้ายังไม่ชัดเจน เช่น อ้างว่าจะแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พ่วงเรื่องล้มคดี อย่างนี้ก็ไม่มีทางรู้คำตอบที่ได้มาว่าตอบเรื่องอะไร เพราะถ้ามาถามตนว่า รัฐธรรมนูญควรแก้ไขหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ควรแก้และเคยแก้แล้ว 2 มาตรา ถ้าถามว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมไหม ส่วนตัวเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมบางเรื่อง เช่น การชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกง“ที่แปลกก็คือฝ่ายผม เป็นคนบอกว่าไม่ควรล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายของประชาชนในปี 2553 แต่พรรคเพื่อไทยกลับเสนอกฎหมายให้มีการล้างผิดตรงนี้ ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการนำประโยชน์ของคนบางคนมาเป็นตัวกำหนด ทำให้เกิดการโต้แย้งตลอดเวลา ถ้าหยุดตรงนี้ได้บ้านเมืองก็เดินได้ และผมเห็นด้วย หากทุกพรรคการเมืองจะหารือร่วมกันเพื่อหาทางออก แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการหารือก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่มีข้อยุติ จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน ซึ่งผมย้ำว่า ถ้าสลัดก้าวข้ามคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ไปได้บ้านเมืองเดินได้ ไม่มีปัญหา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.

ปชป.จับตาตำรวจ ทำคดีราเมศ โวยระบบรปภ.ห่วย

ปชป.จับตาตำรวจ ทำคดีราเมศ โวยระบบรปภ.ห่วย
ปชป.จี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำคดี “ราเมศ รัตนะเชวง” ทีม กม.ปชป. โวย รปภ. มีตำรวจเฝ้าหน้าห้องพักรักษาตัวเพียงนายเดียว เกรงไม่ปลอดภัย...วันที่ 20 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคและทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกลอบทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า มีการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนใกล้ชิดนายราเมศ ก็เป็นห่วงว่าจะได้รับความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน และมีข้อมูลที่พรรคได้มาอีกด้านหนึ่งด้วย จึงต้องจับตาดูการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ให้เจ้าหน้าที่ทำงานตามหน้าที่ไปก่อน โดยในขณะนี้ นายราเมศยังไม่สามารถให้ปากคำกับตำรวจได้ เพราะเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ตนไปเยี่ยมก็พยายามจะพูด แต่ส่งเสียงได้เพียงเล็กน้อย และจำเป็นต้องพักผ่อน ให้มีเวลาในการพักฟื้นด้วย ตนเห็นว่าตำรวจต้องเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ ด้านนายประมวล เอมเปีย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้เดินทางไปเยี่ยมนายราเมศ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า นายราเมศตายังมีอาการบวมมาก โดยเฉพาะรอบดวงตา แม้จะรู้สึกตัวแล้ว แต่ที่น่าสังเกตคือ ตำรวจให้ข่าวว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไป รปภ.อย่างดีและเข้มงวด แต่กลับปรากฏว่ามีตำรวจแก่ๆ นายเดียวนั่งอยู่หน้าห้อง ต่างจากการให้ข่าวของตำรวจที่ระบุว่ามีการจัดเวรยาม รปภ.เต็มที่ แล้วจะให้วางใจได้อย่างไร เพราะนายราเมศถือเป็นทนายความที่ร่วมรับผิดชอบคดีสำคัญหลักๆ ของพรรค ที่บางฝ่ายพยายามจะล้มยุบพรรคให้ได้ จึงขอให้ทางตำรวจดูแลให้เข้มงวด ไม่ใช่ออกข่าวสร้างภาพ.

นิคมหนุนรัฐทำประชามติ แก้รธน.เชื่อ ไม่ยากอย่างที่คิด

นิคมหนุนรัฐทำประชามติ แก้รธน.เชื่อ ไม่ยากอย่างที่คิด
นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา หนุนรัฐทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อไม่ยากอย่างที่คิด ห่วงรัฐจัดเวทีประชาเสวนา เป็นการชี้นำ ปชช. ... วันที่ 20 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางการทำประชามติ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ ถ้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 จะมีพรรคการเมือง หรือบางกลุ่ม ออกมาคัดค้าน และยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อีก ส่วนการแก้ไขเป็นรายมาตราที่ดูง่าย แต่ที่จริงมันยาก เพราะถ้าแก้ 1 มาตรา พรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.บางกลุ่มไม่เห็นด้วย หากรวมกันมี 180 คน แปรญัตติทุกคน ก็ใช้เวลายาวนานมาก ทางเดินมีแต่ขวากหนามทั้งนั้น ทุกทางยากทั้งหมด แต่แนวทางที่ขัดแย้งน้อยสุดคือ โยนอำนาจคืนให้กับประชาชน แม้จะไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ก็ทำให้รู้ ซึ่งรัฐบาลมีกลไก เครื่องมือเยอะ น่าจะรณรงค์ และอาจเป็นโอกาสดี ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ด้วย ทั้งนี้ มองว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำประชามติให้ผ่าน เพราะเมื่อปี 2540 ช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตสาทร ก็เคยช่วยทำประชามติ ประชาพิจารณ์ที่เขตทำให้ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ขอร้องประชาชน บอกให้มาลงประชามติให้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง อย่างไรก็ตาม การทำเวทีประชาเสวนาของกระทรวงมหาดไทย 108 เวที คู่ขนานการทำประชามติของรัฐบาลนั้น มองว่าเป็นการชี้นำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องให้ข่าวสาร ข้อมูลต่อประชาชนว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง.

Blog Archive