Sunday, January 13, 2013

113ปีกรมแพทย์ทหารบกมุ่งสู่ผู้นำ

113ปีกรมแพทย์ทหารบกมุ่งสู่ผู้นำ
             กรมแพทย์ทหารบก เป็นหน่วยงานสำคัญที่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 113  ปี ปัจจุบันมี พล.ท.ภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ เป็นเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก โดยภารกิจกรมแพทย์ทหารบกได้มีการศึกษาวิจัย และฝึกอบรมบุคลากรเหล่าทหารแพทย์เพื่อให้บริการแก่กำลังพลของกองทัพบก และครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก จำนวน 37 แห่ง              นอกจากนี้ กรมแพทย์ทหารบกยังมีภารกิจสนับสนุนภารกิจของกองทัพบกทั้งในภาวะปกติ ภาวะสงคราม หรือแม้แต่ในยามเกิดภัยพิบัติ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีพิพาทบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร และการปฏิบัติการภารกิจสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติในหลายภูมิภาคทั่วโลก              สำหรับยุทธศาสตร์กรมแพทย์ทหารบกในปี 2556 คือ การเป็น "ผู้นำด้านเวชศาสตร์ทหาร" ในภูมิภาคอาเซียน และภาคพื้นเอเชียแฟซิฟิก โดยได้ดำเนินการประสานความร่วมมือทางวิชาการ และการปฏิบัติงานในหลายด้าน ทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแพทย์ทหารภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือการจัดการประชุมสมาคมแพทย์ทหารโลกภาคพื้นเอเชียแฟซิฟิก              พ.อ.ปราโมทย์ อิ่มวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธการ และการข่าว กรมแพทย์ทหารบก อธิบายถึงยุทธศาสตร์ดังกล่าวว่า ปี 2556 กองทัพบกกำหนดนโยบายให้เป็นปีแห่งการพัฒนาการบริหารการจัดการ และการฝึกโดยมุ่งเอาผลสัมฤทธิ์เป็นที่ตั้ง โดยมีภารกิจหลักอยู่ 2 ประการ คือ การบริการแพทย์ในที่ตั้งปกติ คือโรงพยาบาลทหารบกทั่วประเทศ และการบริการแพทย์ในสนาม              ทั้งนี้ การปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ โดยแต่ละกองทัพภาคจะมีแพทย์ใหญ่ประจำอยู่ เพื่อบูรณาการทรัพยากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัด จึงจะต้องใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งหน่วยในสนาม และหน่วยในที่ตั้งปกติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด              ยกตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจเอกซเรย์ เมื่อมีการจัดซื้อมาถ้าทิ้งไว้ให้หน่วยกำลังรบก็จะทำให้สูญเปล่า เพราะไม่ได้ประโยชน์ แต่เมื่อมีการจัดซื้อไว้ที่โรงพยาบาล และให้กำลังพลในส่วนกำลังรบเข้ามาทดลองใช้ในยามปกติก็จะสามารถฝึกใช้งานกับคนไข้ได้จริง และเมื่อถึงเวลาออกภาคสนามก็จะสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างเชี่ยวชาญ              หรือในกรณีที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในช่วง 5-10 นาทีแรก ไม่มีใครช่วยเหลือได้ นอกจากตัวเขาเอง ดังนั้น ในพื้นที่ภาคสนามทหารทุกคนจะต้องมีสายรัดห้ามเลือด และทุกคนจะต้องได้รับการฝึกให้รัดช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อเวลาถูกข้าศึกยิงก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้ารอให้แพทย์สนามเข้ามาช่วยเหลือก็จะเสียเลือดมาก และอาจเสียชีวิตได้              พ.อ.ปราโมทย์ ระบุว่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรมแพทย์ทหารบกที่มีความใกล้ชิดกับประเทศพม่าได้มีการแลกเปลี่ยนการดูงาน และมีการพัฒนา "ภาษาอังกฤษ" เพื่อให้กำลังพลสามารถสื่อสารได้ และในอนาคตจะมีการฝึกร่วม หรือวิจัยทางการแพทย์ร่วมกัน เช่น การวิจัยไข้มาลาเรียที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งในอดีตไม่สามารถเข้าไปทำวิจัยได้              "ส่วนแพทย์ที่ลงไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการพัฒนาร่วมกับพลเรือน เพราะเป็นการปฏิบัติการที่ไม่มีแนวรบที่ชัดเจน และในพื้นที่ดังกล่าวเราไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นพื้นที่แนวรบ แต่ทุกจุดอันตรายหมด"              พ.อ.ปราโมทย์ ขยายความว่า ในการปฏิบัติงานจะต้องประสานประโยชน์กับโรงพยาบาลพลเรือน โดยในอดีตโรงพยาบาลพลเรือนในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลปัตตานี ขาดศัลยแพทย์ กรมแพทย์ทหารบกจึงได้จัดแพทย์ลงไปช่วย โดยได้ปฏิบัติงานในพื้นที่มานานกว่า 4-5 ปีแล้ว              ทั้งนี้ กรมแพทย์ทหารบกได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยแพทย์ไปอยู่ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น แพทย์ศัลยกรรมทรวงอกที่ จ.ยะลา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกที่ จ.ปัตตานี นอกจากนี้ ยังส่งแพทย์ทั่วไปเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของหน่วยทหารเพื่อดูแลกำลังพลอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่              พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานจะต้องใช้ "ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง" เพราะที่ผ่านมามีทหารเสียชีวิตจากโรคร้ายแรง เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว ไตวาย กรมแพทย์ทหารบกจึงได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงไปในพื้นที่เพื่อดูแลกำลังพล รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ด้วย              "เราจะเอามาตรฐานการแพทย์ในที่ตั้งปกติไปสู่ในพื้นที่สนามให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่การรบ หรือพื้นที่ภัยพิบัติ มาตรฐานการแพทย์จะต้องไม่ต่ำกว่าในที่ตั้งปกติ กรมแพทย์ทหารบกจะมุ่งไปสู่จุดนั้น” ผู้อำนวยการกองยุทธการ และการข่าว กรมแพทย์ทหารบก กล่าวด้วยความมุ่งมั่น ...................... (หมายเหตุ : 113ปี'กรมแพทย์ทหารบก'มุ่งสู่ผู้นำด้านเวชศาสตร์ทหาร : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)

รถไฟฟ้ากับรถคันแรก

รถไฟฟ้ากับรถคันแรก
            ความนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน กล่าวคือแต่เดิมคนกรุงเทพฯ จะพอใจความเป็นส่วนตัว ดังนั้น ที่ดินจัดสรร หรือบ้านจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยว จึงเป็นความฝันของคนรุ่นนั้น แม้ว่าที่ดินและหมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านชานเมืองหรือจังหวัดใกล้เคียง แต่หากมีการตัดถนนไปถึง ผู้คนก็ยินดีที่จะขับรถจากบ้านที่ค่อนข้างไกลมาทำงานในตัวเมือง             แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ หันมานิยมการอยู่อาศัยในอาคารชุดในตัวเมือง โดยเฉพาะตามเส้นทางของรถไฟฟ้า เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก็คือการไม่ต้องเป็นภาระเรื่องการมีรถยนต์ส่วนตัวและความแออัดของการจราจรในเมืองหลวง ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับพฤติกรรมของประชากรในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก             เรื่องมันทำท่าจะดีอยู่แล้วเชียวละครับ แต่เมื่อรัฐบาลนำนโยบายรถคันแรกออกมาใช้ ผลก็คือแทบทุกครอบครัวที่อยู่ในอาคารชุดในกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีรถ หรือไม่คิดที่จะมีรถมาก่อน ก็พากันใช้สิทธิในการมีรถคันแรกกันมากมาย ผลก็คือแทนที่จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในตัวเมือง ก็กลายเป็นการเพิ่มปัญหาดังกล่าวให้สูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาการจราจรที่เต็มกลืนอยู่แล้ว และปัญหาที่จอดรถ ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมแผนการรองรับไว้ล่วงหน้า             แต่ปัญหาที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือปัญหาหนี้สินของประชาชนนับล้านคนที่เข้าร่วมในโครงการรถคันแรก ในตอนนี้ประชาชนอาจจะแฮปปี้ที่มีรถยนต์ขี่ บริษัทรถยนต์แฮปปี้ที่ขายรถได้ บริษัทไฟแนนซ์แฮปปี้ที่มีลูกค้าเพิ่มและรัฐบาลแฮปปี้ที่ได้คะแนนนิยม แต่อีกไม่นานหรอกครับ ประชาชนที่มีรายได้จำกัดก็จะเผชิญกับปัญหาเงินค่าผ่อนรถยนต์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เศรษฐกิจหดตัวและหลายบริษัทอาจต้องปรับลดพนักงาน บริษัทไฟแนนซ์ก็จะประสบปัญหาเรื่องการติดตามหนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงสถานะทางการเงินของบริษัทเอง ถึงตอนนั้นก็คงจะมีรถยนต์คันแรกจำนวนมากที่ถูกยึดและจอดทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อประจานนโยบายประชานิยมแบบฉาบฉวยของรัฐบาล ที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและการผลิต             กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ขาดการวางผังเมืองที่ดี และมีลักษณะของการเติบโตที่ไร้รูปแบบ การกำเนิดของรถไฟฟ้าจึงนับเป็นการกำหนดแนวทางและรูปลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้ในทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารชุดขนาดใหญ่ อาคารสำนักงานที่ทันสมัย หรือศูนย์การค้าแบบใหม่ๆ ตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าแล่นผ่าน ซึ่งตรงจุดนี้ รัฐบาลและ กทม. น่าจะได้วางโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ มากกว่าคิดและทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง             อ้อ เมื่อพูดถึงรถไฟฟ้าแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณคุณคีรี กาญจนพาสน์ ที่ทำให้เกิดรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ เพราะถ้ารอรัฐบาลหรือ กทม. ก็คงจะชาติหน้ามั้งครับ กว่ารถไฟฟ้าจะมาหานะเธอ  

โสภณสวนวัฒนาพูดเพื่อเอาใจใคร?

โสภณสวนวัฒนาพูดเพื่อเอาใจใคร?
               ในวันที่ 14 มกราคม "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี "โสภณ เพชรสว่าง" ประธาน จะมีการประชุม เพื่อสรุปผลการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งมอบให้ "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร" ชุดของ "ประสพ บุษราคัม" เป็นประธาน                เพื่อให้ชุดของ "ประสพ" ตรวจสอบความมีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หรือมีประเด็นอื่นๆ มาเสริมอีกหรือไม่ ก่อนเสนอต่อไปยัง "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร หาก "ประธานสภา" เห็นด้วย จะนำไปมอบให้พรรคการเมืองต่างๆ พิจารณา หรือหากประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ รวมทั้ง ส.ส. ตามช่องทางมาตรา 291 ที่สนใจสามารถนำไปเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อหนึ่ง                ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก "โสภณ" ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมติที่ประชุมของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ทำให้ "วัฒนา เซ่งไพเราะ" โฆษกส่วนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความไม่พอใจที่ "โสภณ" นำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการ มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อน โดยมองว่าไม่เหมาะสม                การที่ "วัฒนา" ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจ "โสภณ" ทำให้ "โสภณ" และ "คณะอนุกรรมการ" อีกหลายคนพากันสงสัยปฏิกิริยาของ "วัฒนา" เนื่องจาก "วัฒนา" ก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการชุดเดียวกับ "โสภณ" และเป็นกรรมการชุด "ประสพ" ร่วมกับ "โสภณ" อีกด้วย                "ผมเห็นคุณวัฒนาออกมาให้สัมภาษณ์ ผมก็งง เพราะคุณวัฒนาก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการชุดที่ผมเป็นประธาน และเป็นกรรมการชุดคุณประสพร่วมกับผมด้วย ผมนำข้อสรุปในที่ประชุมมาพูด และที่ให้สัมภาษณ์ไม่ใช่เพราะผมอยากพูดเอง แต่มีอนุกรรมการคนอื่นๆ ให้ผมออกมาให้ข่าว ถ้ามีคนสนใจจะได้นำเนื้อหาที่เราสรุปไปใช้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ไม่รู้ว่าคุณวัฒนาออกมาพูด เพื่อเอาใจใครหรือเปล่า"                นับตั้งแต่ "วัฒนา" ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับ "โสภณ" ที่นำผลสรุปของคณะอนุกรรมการมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนทั้งสองยังไม่มีโอกาสได้เจอกัน "โสภณ" บอกว่า ถ้ามีโอกาสเจอกับ "วัฒนา" ก็จะถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าการให้สัมภาษณ์น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า หากหน่วยงานอื่น เช่น พรรคการเมือง หรือประชาชน ภาคประชาชนเห็นในบางหัวข้อและบางประเด็นจะได้นำไปใช้                "โสภณ" เล่าที่มาของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ชุดที่มีตนเองเป็นประธาน ว่า แต่งตั้งขึ้นโดย "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" แยกมาจากชุด "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร" ที่มี "ประสพ บุษราคัม" เป็นประธาน                การทำงานจะเป็นการนำ "รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2475 จนถึงฉบับปัจจุบัน" มาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย จนกระทั่งได้ข้อสรุปของที่ประชุม                โดยใน "คณะอนุกรรมการ" มีบุคคลมาจากหลากหลายอาชีพเป็นทั้งอดีตเลขาธิการกฤษฎีกา, อดีต ส.ส.ร.ปี 2540, อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งหมดประมาณ 12 คน และหนึ่งในนั้นก็มี วัฒนา เซ่งไพเราะ รวมอยู่ด้วย                "เนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือทำให้วุ่นวายอะไร ไม่ใช่ว่าผมอยากดัง ทุกวันนี้ผมก็ดังพอแล้ว ผมเคยเป็นถึงรองประธานสภา เป็น ส.ส.มาตั้ง 7-8 สมัย ทุกวันจัดรายการวิทยุให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประชาชน คนรู้จักผมมากมาย ผมจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณวัฒนาต้องมาว่าผม หรือเป็นเพราะประธานสภาร้อนใจหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะผมยังไม่เจอประธานสภา"                หลังจาก "โสภณ" นำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการมาเผยแพร่ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลายประเด็น โดย "โสภณ" ยืนยันว่า มติของคณะอนุกรรมการยึดหลักการ 3 ข้อ คือ 1.แก้ไขเพื่อให้อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ 2.ป้องกันการเกิดปฏิวัติรัฐประหาร และ 3.ให้ยึดหลักกระบวนการศาลยุติธรรมเป็นใหญ่                เพราะกลับขยายสาระของ "คณะอนุกรรมการ" เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยืนยันว่า จะไม่มีการแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์                -ที่มาของ "ส.ส.และส.ว." จะย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540 คือ มี 700 คน แยกเป็น ส.ส.500 คน (ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ส่วน ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน                -เสนอให้ยกเลิก “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้วกลับไปใช้ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ให้มีอำนาจเพียงการตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องการยุบพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค โดยตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา                -เสนอให้การยกเลิก "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" โดยให้ "ศาลยุติธรรม" เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน ควรเปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้                -เสนอให้ยุบ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เพราะมองว่าทำงานซ้ำซ้อนกับ “ศาลปกครอง”                -ให้ลดอำนาจ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) จากเดิม ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.ก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ แต่แก้ไขให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้                -เสนอให้ยกเลิก มาตรา 309 เพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่มีความผิด แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินก็ให้สู้คดีกันไป                "โสภณ" ยืนยันว่า ข้อสรุปของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ถือเป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ถ้า "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย" ชุดของ "ประสพ" ไม่เห็นด้วยก็จบ ถ้าเห็นด้วยก็เสนอต่อ "ประธานสภา" เพื่อพิจารณาอีกต่อหนึ่งเท่านั้น!                  อย่างไรก็ตาม มติของ "คณะอนุกรรมการ" ส่วนใหญ่จะให้ "องค์กรศาลและองค์กรอิสระต่างๆ" ผ่านกระบวนแต่งตั้งจากรัฐสภา ที่มองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เสียงวิจารณ์ที่ตามมาพากันตั้งข้อสงสัยว่า องค์กรเหล่านั้นส่วนใหญ่ "ตรวจสอบ" การใช้อำนาจรัฐและนักการเมือง                ถ้าองค์กรเหล่านี้ถูกยุบหรือลดทอนอำนาจแล้วใครจะเข้าไป "ตรวจสอบ" การทำหน้าที่ของรัฐและบรรดานักการเมืองทุจริต! ...................... (หมายเหตุ : 'พูดเพื่อเอาใจใคร?' : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)  

Blog Archive