Sunday, January 13, 2013

โสภณสวนวัฒนาพูดเพื่อเอาใจใคร?

โสภณสวนวัฒนาพูดเพื่อเอาใจใคร?
               ในวันที่ 14 มกราคม "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี "โสภณ เพชรสว่าง" ประธาน จะมีการประชุม เพื่อสรุปผลการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งมอบให้ "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร" ชุดของ "ประสพ บุษราคัม" เป็นประธาน                เพื่อให้ชุดของ "ประสพ" ตรวจสอบความมีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หรือมีประเด็นอื่นๆ มาเสริมอีกหรือไม่ ก่อนเสนอต่อไปยัง "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร หาก "ประธานสภา" เห็นด้วย จะนำไปมอบให้พรรคการเมืองต่างๆ พิจารณา หรือหากประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ รวมทั้ง ส.ส. ตามช่องทางมาตรา 291 ที่สนใจสามารถนำไปเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อหนึ่ง                ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก "โสภณ" ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมติที่ประชุมของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ทำให้ "วัฒนา เซ่งไพเราะ" โฆษกส่วนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความไม่พอใจที่ "โสภณ" นำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการ มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อน โดยมองว่าไม่เหมาะสม                การที่ "วัฒนา" ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจ "โสภณ" ทำให้ "โสภณ" และ "คณะอนุกรรมการ" อีกหลายคนพากันสงสัยปฏิกิริยาของ "วัฒนา" เนื่องจาก "วัฒนา" ก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการชุดเดียวกับ "โสภณ" และเป็นกรรมการชุด "ประสพ" ร่วมกับ "โสภณ" อีกด้วย                "ผมเห็นคุณวัฒนาออกมาให้สัมภาษณ์ ผมก็งง เพราะคุณวัฒนาก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการชุดที่ผมเป็นประธาน และเป็นกรรมการชุดคุณประสพร่วมกับผมด้วย ผมนำข้อสรุปในที่ประชุมมาพูด และที่ให้สัมภาษณ์ไม่ใช่เพราะผมอยากพูดเอง แต่มีอนุกรรมการคนอื่นๆ ให้ผมออกมาให้ข่าว ถ้ามีคนสนใจจะได้นำเนื้อหาที่เราสรุปไปใช้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ไม่รู้ว่าคุณวัฒนาออกมาพูด เพื่อเอาใจใครหรือเปล่า"                นับตั้งแต่ "วัฒนา" ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับ "โสภณ" ที่นำผลสรุปของคณะอนุกรรมการมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนทั้งสองยังไม่มีโอกาสได้เจอกัน "โสภณ" บอกว่า ถ้ามีโอกาสเจอกับ "วัฒนา" ก็จะถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าการให้สัมภาษณ์น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า หากหน่วยงานอื่น เช่น พรรคการเมือง หรือประชาชน ภาคประชาชนเห็นในบางหัวข้อและบางประเด็นจะได้นำไปใช้                "โสภณ" เล่าที่มาของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ชุดที่มีตนเองเป็นประธาน ว่า แต่งตั้งขึ้นโดย "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" แยกมาจากชุด "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร" ที่มี "ประสพ บุษราคัม" เป็นประธาน                การทำงานจะเป็นการนำ "รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2475 จนถึงฉบับปัจจุบัน" มาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย จนกระทั่งได้ข้อสรุปของที่ประชุม                โดยใน "คณะอนุกรรมการ" มีบุคคลมาจากหลากหลายอาชีพเป็นทั้งอดีตเลขาธิการกฤษฎีกา, อดีต ส.ส.ร.ปี 2540, อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งหมดประมาณ 12 คน และหนึ่งในนั้นก็มี วัฒนา เซ่งไพเราะ รวมอยู่ด้วย                "เนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือทำให้วุ่นวายอะไร ไม่ใช่ว่าผมอยากดัง ทุกวันนี้ผมก็ดังพอแล้ว ผมเคยเป็นถึงรองประธานสภา เป็น ส.ส.มาตั้ง 7-8 สมัย ทุกวันจัดรายการวิทยุให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประชาชน คนรู้จักผมมากมาย ผมจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณวัฒนาต้องมาว่าผม หรือเป็นเพราะประธานสภาร้อนใจหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะผมยังไม่เจอประธานสภา"                หลังจาก "โสภณ" นำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการมาเผยแพร่ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลายประเด็น โดย "โสภณ" ยืนยันว่า มติของคณะอนุกรรมการยึดหลักการ 3 ข้อ คือ 1.แก้ไขเพื่อให้อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ 2.ป้องกันการเกิดปฏิวัติรัฐประหาร และ 3.ให้ยึดหลักกระบวนการศาลยุติธรรมเป็นใหญ่                เพราะกลับขยายสาระของ "คณะอนุกรรมการ" เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยืนยันว่า จะไม่มีการแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์                -ที่มาของ "ส.ส.และส.ว." จะย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540 คือ มี 700 คน แยกเป็น ส.ส.500 คน (ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ส่วน ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน                -เสนอให้ยกเลิก “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้วกลับไปใช้ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ให้มีอำนาจเพียงการตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องการยุบพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค โดยตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา                -เสนอให้การยกเลิก "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" โดยให้ "ศาลยุติธรรม" เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน ควรเปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้                -เสนอให้ยุบ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เพราะมองว่าทำงานซ้ำซ้อนกับ “ศาลปกครอง”                -ให้ลดอำนาจ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) จากเดิม ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.ก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ แต่แก้ไขให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้                -เสนอให้ยกเลิก มาตรา 309 เพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่มีความผิด แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินก็ให้สู้คดีกันไป                "โสภณ" ยืนยันว่า ข้อสรุปของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 สภาผู้แทนราษฎร" ถือเป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ถ้า "คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย" ชุดของ "ประสพ" ไม่เห็นด้วยก็จบ ถ้าเห็นด้วยก็เสนอต่อ "ประธานสภา" เพื่อพิจารณาอีกต่อหนึ่งเท่านั้น!                  อย่างไรก็ตาม มติของ "คณะอนุกรรมการ" ส่วนใหญ่จะให้ "องค์กรศาลและองค์กรอิสระต่างๆ" ผ่านกระบวนแต่งตั้งจากรัฐสภา ที่มองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เสียงวิจารณ์ที่ตามมาพากันตั้งข้อสงสัยว่า องค์กรเหล่านั้นส่วนใหญ่ "ตรวจสอบ" การใช้อำนาจรัฐและนักการเมือง                ถ้าองค์กรเหล่านี้ถูกยุบหรือลดทอนอำนาจแล้วใครจะเข้าไป "ตรวจสอบ" การทำหน้าที่ของรัฐและบรรดานักการเมืองทุจริต! ...................... (หมายเหตุ : 'พูดเพื่อเอาใจใคร?' : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive