Sunday, January 13, 2013

รถไฟฟ้ากับรถคันแรก

รถไฟฟ้ากับรถคันแรก
            ความนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน กล่าวคือแต่เดิมคนกรุงเทพฯ จะพอใจความเป็นส่วนตัว ดังนั้น ที่ดินจัดสรร หรือบ้านจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยว จึงเป็นความฝันของคนรุ่นนั้น แม้ว่าที่ดินและหมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านชานเมืองหรือจังหวัดใกล้เคียง แต่หากมีการตัดถนนไปถึง ผู้คนก็ยินดีที่จะขับรถจากบ้านที่ค่อนข้างไกลมาทำงานในตัวเมือง             แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ หันมานิยมการอยู่อาศัยในอาคารชุดในตัวเมือง โดยเฉพาะตามเส้นทางของรถไฟฟ้า เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก็คือการไม่ต้องเป็นภาระเรื่องการมีรถยนต์ส่วนตัวและความแออัดของการจราจรในเมืองหลวง ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับพฤติกรรมของประชากรในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก             เรื่องมันทำท่าจะดีอยู่แล้วเชียวละครับ แต่เมื่อรัฐบาลนำนโยบายรถคันแรกออกมาใช้ ผลก็คือแทบทุกครอบครัวที่อยู่ในอาคารชุดในกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีรถ หรือไม่คิดที่จะมีรถมาก่อน ก็พากันใช้สิทธิในการมีรถคันแรกกันมากมาย ผลก็คือแทนที่จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในตัวเมือง ก็กลายเป็นการเพิ่มปัญหาดังกล่าวให้สูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาการจราจรที่เต็มกลืนอยู่แล้ว และปัญหาที่จอดรถ ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมแผนการรองรับไว้ล่วงหน้า             แต่ปัญหาที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือปัญหาหนี้สินของประชาชนนับล้านคนที่เข้าร่วมในโครงการรถคันแรก ในตอนนี้ประชาชนอาจจะแฮปปี้ที่มีรถยนต์ขี่ บริษัทรถยนต์แฮปปี้ที่ขายรถได้ บริษัทไฟแนนซ์แฮปปี้ที่มีลูกค้าเพิ่มและรัฐบาลแฮปปี้ที่ได้คะแนนนิยม แต่อีกไม่นานหรอกครับ ประชาชนที่มีรายได้จำกัดก็จะเผชิญกับปัญหาเงินค่าผ่อนรถยนต์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เศรษฐกิจหดตัวและหลายบริษัทอาจต้องปรับลดพนักงาน บริษัทไฟแนนซ์ก็จะประสบปัญหาเรื่องการติดตามหนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงสถานะทางการเงินของบริษัทเอง ถึงตอนนั้นก็คงจะมีรถยนต์คันแรกจำนวนมากที่ถูกยึดและจอดทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อประจานนโยบายประชานิยมแบบฉาบฉวยของรัฐบาล ที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและการผลิต             กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ขาดการวางผังเมืองที่ดี และมีลักษณะของการเติบโตที่ไร้รูปแบบ การกำเนิดของรถไฟฟ้าจึงนับเป็นการกำหนดแนวทางและรูปลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้ในทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารชุดขนาดใหญ่ อาคารสำนักงานที่ทันสมัย หรือศูนย์การค้าแบบใหม่ๆ ตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าแล่นผ่าน ซึ่งตรงจุดนี้ รัฐบาลและ กทม. น่าจะได้วางโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ มากกว่าคิดและทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง             อ้อ เมื่อพูดถึงรถไฟฟ้าแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณคุณคีรี กาญจนพาสน์ ที่ทำให้เกิดรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ เพราะถ้ารอรัฐบาลหรือ กทม. ก็คงจะชาติหน้ามั้งครับ กว่ารถไฟฟ้าจะมาหานะเธอ  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive