Thursday, January 17, 2013

นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ

นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ
                เปิดออกมาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับข้อเสนอในการนิรโทษกรรม ความผิดระหว่างการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออกเป็น พระราชกฤษฎีกา ตามที่ นปช. เห็นชอบ หรือกระทั่งดีกรีจัดอย่างการเขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญอย่างที่ "นิติราษฎร์" ต้องการ                 ต่างกันที่ข้อเสนอ พ.ร.ก. ตามแบบ นปช.นั้น ยังกระมิดกระเมี้ยนขอให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมือง ยกเว้นแกนนำ แม้ภายหลังจะมีสมาชิกเสื้อแดงบางคนบอกว่าแกนนำบางส่วนจะได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ไปด้วย                 ส่วนข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้น ชัดเจนว่าแกนนำมีเอี่ยว และจะได้รับผลจากนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน เพราะเลือกจะนิยามว่า จะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจที เกี ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐ จากวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 9 พฤษภาคม 2554                 ซึ่งชัดเจนว่าการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมานั้น ล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการเมืองทั้งสิ้น                 นอกจากนี้การตั้ง "กรรมการขจัดความขัดแย้ง" มาเป็นผู้ตีความว่าเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจจากทางการเมือง หากฟังตามคำอธิบายของนิติราษฎร์แล้ว มีความประสงค์ที่จะให้การพิจารณามีมิติมากกว่าตัวบทกฎหมาย                 แต่ในทางตรงข้ามกลับยิ่งเป็นการขยายอำนาจในการใช้ดุลพินิจ และมีความเป็นไปได้สูงว่าในหลายๆคดี อาจจะถูกยกโทษเพียงใช้คำว่า "มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง"                 ต้องไม่ลืมว่าในเรือนจำที่ยังมีผู้ต้องขังที่เคยเป็นผู้ชุมนุมนั้น หลายๆ กรณี ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดทางการเมืองเท่านั้น แต่หลายครั้งเป็นความต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและเลยเถิดมาถึงละเมิดกฎหมายอาญา                 หลายคนต้องข้อหาลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย จริงอยู่ที่บางคนทำไปเพราะโกรธแค้น แต่ก็ต้องไม่มองอย่างไร้เดียงสาว่าทุกคนเป็นเช่นนั้น เพราะยังมีหลายคนที่ฉวยโอกาสจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อหวังประกอบอาชญากรรม                 และต้องจำไว้ด้วยว่า หลักการชุมนุมนั้นสามารถทำได้หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่หากล้ำเส้นก็จำเป็นต้องมีความผิดทางอาญาและต้องรับโทษ เพราะแรงจูงใจทางการเมืองย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดผู้อื่นได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหากกระทำความผิดก็ต้องรับผิดเช่นกัน อย่างไม่มีข้อยกเว้น                 แต่หากจะอ้างเรื่องการขจัดความขัดแย้ง ข้อเสนอของ นิติราษฎร์ ยิ่งสอบตก เมื่อเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้แก่ฝั่งผู้ชุมนุม โดยที่ไม่ยอมอภัยให้แก่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อเป็นการวางมาตรฐานว่าต่อไปเจ้าหน้าที่ต้องปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง"                 เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้นค่อนข้างเหลื่อมล้ำ เพราะหากเป็นม็อบ ก็จะมีโอกาสพ้นผิดทั้งผู้ชุมนุม และแกนนำ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องรับผิด ทั้งคนสั่งการ หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นผู้รับคำสั่ง ก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นผิด                 เหตุผลฟังดูสวยหรู แต่มองลึกเข้าไปจะเห็นชุดความคิดที่ว่า เฉพาะฝั่งผู้ชุมนุมเท่านั้นที่มีโอกาสผิดพลาด แต่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่มีโอกาสผิดพลาดแม้แต่น้อย                 ไม่ทราบว่า "นิติราษฎร์" จะเคยรู้หรือไม่ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานนั้น บางคนก็เชื่อว่าคำสั่งที่ได้รับนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างกระทำตามขั้นตอน และไม่เชื่อว่ามีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น                 ความผิดพลาดเช่นนี้ ความไม่รู้เช่นนี้ นิติราษฎร์เลือกที่จะลืมหรือไม่                 เชื่อได้ว่าหากอ้างเรื่องบรรเทาความขัดแย้ง ทุกคนน่าที่จะยอมรับการนิรโทษหรือให้อภัยผู้ร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ระดับล่าง เพื่อปลดล็อกประเทศให้เดินหน้า แต่การนิรโทษให้แก่แกนนำหรือผู้สั่งการจนมีคนตายกลางเมืองเกือบร้อย คงเป็นเรื่องที่ยากเกินทน                 แต่เมื่อข้อเสนอยังลักลั่นเช่นนี้ ก็ยากที่จะทำให้เกิดการยอมรับ และความขัดแย้งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดโดยการยอมรับเพียงฝั่งเดียว                 ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนถามกลับไปยังทั้งสองฝ่าย เริ่มจากฝั่งที่ไม่ใช่เสื้อแดงว่ายอมรับได้หรือไม่ ที่แกนนำจะต้องพ้นผิดหากความจริงปรากฏว่ามีการใช้ความรุนแรง ยั่วยุ ใช้อาวุธ ตลอดจนกระทั่งเผาบ้านเผาเมือง                 หรือฝั่งคนเสื้อแดงยอมรับได้จริงหรือไม่ หาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"  ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ แม้ทุกอย่างจะชี้ชัดว่า "สั่งฆ่า" ประชาชนจริงๆ                 หรือความจริงที่ปรากฏจะเป็นว่า ต่างคนต่างผิด                 หนทางของการขจัดความขัดแย้งจึงไม่ใช่อยู่ที่การมองว่าฝั่งตัวเองเท่านั้นที่ถูก หรือการเลือกที่จะลืมๆความผิดที่ก่อมาและกรอเทปกลับไปเสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น วันนึงก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา                 ความขัดแย้งย่อมถูกขจัดได้ด้วยความจริง และคนผิดต้องได้รับโทษตามสมควร                 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าถึงวันนี้บรรดา "ผู้นำ" ทั้งหลายที่เคยปากกล้าว่าจะไม่รับการนิรโทษ เมื่อวันเวลาผ่านไป ความจริงปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จะยังยืนยันคำเดิมว่า "ไม่ขอรับการนิรโทษ" หรือไม่ .......... (หมายเหตุ : นิรโทษกรรมไม่ใช่คำตอบ : ขยายปมร้อน โดยอรรถยุทธ  บุตรศรีภูมิ)  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive