Wednesday, March 13, 2013

เลขาสมช. ยันลงนามBRN ไม่ขัด ม.190

เลขาสมช. ยันลงนามBRN ไม่ขัด ม.190
พล.ท.ภราดร ชี้ ประชุมสภาฯ มั่นคง วันนี้เน้นวางกรอบ ลดโทนรุนแรง จว.ชายแดนใต้ เตรียมคุยมาเลเซีย 28 มี.ค. ยันไม่ผิด ม.190 ย้ำไม่ถึงขั้นตั้ง มหานครปัตตานี... วันที่ 13 มี.ค. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงการประชุมวางกรอบที่จะนำเรื่องไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ร่วมกับรัฐบาลมาเลเซีย ในวันที่ 28 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ว่า เรื่องหลักๆ ที่จะสื่อสารในที่ประชุมเวลาประมาณ 13.30 น.ในวันนี้ ก็คือ การลดโทนความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก โดยจะไปรับฟังความคิดเห็นของเขา ทางเราตอนนี้ก็มีการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะต้องลงไปหารือ รับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 มี.ค.นี้แล้ว ซึ่งยังเป็นก้อนใหญ่อยู่คงต้องมีการคัดเลือกรายชื่ออีกครั้ง  ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีการลงนาม พันธสัญญา หรือทำเอ็มโอยูใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่ต้องเกรงว่าอาจจะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างที่มีผู้หวังดีออกมาเตือน ทั้งยังเป็นการไปพบหารือกันนอกประเทศไทย โดยไปที่ประเทศเพื่อบ้านอย่างมาเลเซีย ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ธูรกิจแก๊ส-น้ำมันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังไม่นับองค์กร ภาคประชาชนต่างๆ เต็มไปหมด โดยการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมดทำร่วมกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของกันและกัน ส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะได้เป็นการสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่ และสืบเนื่องจากกรณีที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 นี้ด้วย เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทั้งของไทยและมาเลเซีย ทั้ง 2 ประเทศจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา หากทำไม่ได้ อนาคตประเทศอื่นมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็อาจจะต่อว่าได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่าการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนดังกล่าว อาจทำให้ไทยเสียเปรียบไปถึงขั้นนำไปสู่การตั้งมหาครปัตตานี หรือเกรงว่าอาจจะทำให้ปัญหายกตัวไปสู่เวทีนานาชาตินั้น พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะการหารือ พูดคุย กับกลุ่มอุดมการณ์ในพื้นที่ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เปรียบไปก็คือการไปพูดจากัน เมื่อรับข้อมูลจากฝั่งตรงข้ามาแล้วก็ต้องมาหารือกันกับทุกกลุ่ม ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน เอกชน ในประเทศอีกครั้งว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป ทั้งกรณี การตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือจะใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่น หรือไม่ อย่างไร การหารือทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญไทย และยังคงต้องพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องไปอีก เพราะยังไม่มีใครทราบว่า จะต้องดำเนินการไปในรูปแบบไหน แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะยังไม่ถึงขั้นตั้งมหานครปัตตานีแน่ เลขาฯ สมช. กล่าว.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive