Saturday, March 20, 2010

แดงอีสานถอดใจ...ขอขึ้นรถไฟฟรี

แดงอีสานถอดใจ...ขอขึ้นรถไฟฟรี



คมชัดลึก :เสื้อแดงอีสานบางส่วนถอดใจ คิดถึงบ้าน ถูกรถกระบะ-แกนนำทิ้ง อาศัยรถไฟฟรีภาษีประชาชนทยอยกลับบ้านแน่นโบกี้ จนท.ประชาสัมพันธ์ชี้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม วันประกาศเจาะเลือดมีเสื้อแดงแห่กลับแน่นหัวลำโพง






 การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ดูเหมือนว่าจะมีอุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อไม่เป็นไปตามที่แกนนำคาดหวัง โดยเฉพาะแกนนำระดับชุมนุมไม่สามารถยื้อรถกระบะที่นำพาผู้ชุมนุมจากภาคอีสานและเหนือให้ตรึงอยู่กับการชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าฯ ได้ ส่วนหนึ่งถูกทิ้งจนต้องอาศัยรถไฟฟรีจากภาษีของประชาชนโดยสารกลับบ้านอย่างโดดเดี่ยว
 นับตั้งแต่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม เป็นต้นมา หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีผู้ชุมนุมจำนวนมหาศาลเข้ามาร่วมกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชาวรากหญ้าจากภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา จะสร้างแรงกดดันใหัรัฐบาลต้องตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และสิ่งที่หวาดกลัวกันมากที่สุดคือเกิดความรุนแรงบานปลายอาจถึงขั้นเสียเลือดเนื้อ แต่การชุมนุมที่ส่อจะยืดเยื้อส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งคิดถึงบ้าน จนทยอยกลับบ้านจนเหลือผู้ชุมนุมน้อยลงในแต่ละวัน
 หลังจากการชุมนุมผ่านมาได้ระยะหนึ่ง "คม ชัด ลึก" ได้สอบถามผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้ความว่า พวกเขาถูกแกนนำระดับหมู่บ้านและรถกระบะที่พามาทิ้งให้อยู่ร่วมชุมนุมโดยลำพัง ตั้งแต่แกนนำขอบริจาคเลือดไปเทราดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล หลายคนทนคิดถึงบ้านไม่ไหวไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะหันไปใช้บริการรถไฟฟรีจากภาษีของประชาชน ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง
 บรรยากาศที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเย็นย่ำวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากผู้โดยสารอื่นๆ แล้วยังปรากฏคนสวมเสื้อแดงจำนวนมากรอรถไฟอยู่ตามชานชาลาสายอีสานและเหนือคับคั่งกว่าที่เคยเป็น ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนและสูงอายุ นั่งรอด้วยท่าทางหมดอาลัยตายอยาก "วินัย" วัย 51 ปีจากอุดรธานี ที่เดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นมา กับเพื่อนในหมู่บ้านอีก 4 คน ยอมรับว่าคิดถึงเมียและหลานสาววัย 4 ขวบ มากจนต้องตัดสินใจกลับบ้าน
 วินัยกับเพื่อนๆ เดินทางมาร่วมชุมนุมกับรถกระบะคันหนึ่งในหมู่บ้าน ที่ผู้ใหญ่บ้านนำมารับ ตั้งใจว่าจะมาอยู่ร่วมชุมนุมแค่ 3 วันแล้วจะเดินทางกลับ แต่พอครบ 3 วันรถที่พามากลับบอกว่าหากจะกลับบ้านต้องเสียค่ารถอีกคนละ 300 บาท ไม่รวมค่าน้ำมัน เบ็ดเสร็จแล้วพวกเขาจะต้องเสียเงินถึงคนละ 600 บาทถึงจะกลับบ้านได้ จึงต้องอยู่ร่วมชุมนุมต่อไปเรื่อยๆ รอคนรู้จักกลับแล้วจะขอติดรถกลับบ้านด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีรถให้กลับบ้าน เลยต้องหันมาใช้บริการรถไฟฟรีจากภาษีของประชาชนกลับบ้าน
 "ผมมาเพื่อเรียกร้องอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาบริหารบ้านเมืองเหมือนเดิม แต่อีกส่วนก็มาจากเงินจูงใจจำนวนหนึ่ง ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีรายได้อะไร พอได้มาก็ให้เมียเก็บไว้ใช้จ่ายที่บ้าน แต่มาแล้วกลับถูกทิ้งและแกนนำก็พยายามชวนให้อยู่ต่อ ผมคิดถึงเมียและบ้านมากไม่รู้จะทำอย่างไร เงินก็ให้เมียหมดแล้ว สุดท้ายพอเกินกำหนดมากๆ เข้า ผมกับเพื่อนๆ เลยมานั่งรถไฟฟรีที่หัวลำโพงกลับบ้าน" วินัย กล่าว
 ไม่ต่างอะไรกับ "สุบินทร์" วัย 48 ปีจากหนองคาย ที่นั่งรอรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ในชานชาลาที่ 8 ตั้งแต่ 4 โมงเย็นด้วยใจจดจ่อ เนื่องจากคลาดกับรถกระบะที่พามาส่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา และรถคันดังกล่าวก็กลับไปโดยไม่แจ้งเหตุผล เขาได้ติดต่อกับการ์ดเสื้อแดงติดต่อขอรถกลับบ้านก็ได้รับคำตอบให้ใจเย็นๆ เดี๋ยวแกนนำจะจัดหารถให้ แต่ผ่านไปนานเกือบ 1 สัปดาห์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้กลับบ้าน ตรงกันข้ามการชุมนุมกลับดูจะยืดเยื้อมากขึ้นทุกวัน
 "เงินผมหมด รถที่พามาก็ทิ้ง ผมเลยตัดสินใจมาที่หัวลำโพง ดูว่ามีรถไฟกลับหนองคายหรือเปล่า พอดีมีเที่ยว 2 ทุ่ม 45 นาที ผมเลยต้องนั่งรออยู่ถึง 6 ชั่วโมง จริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากจะมาร่วมชุมนุมหรอก แต่เกรงใจกำนันที่ไปชักชวนและขอร้องให้มาช่วย ผมคงไม่กลับมาอีกแล้ว ถึงผมจะจนแค่ไหนก็ไม่เคยนอนข้างถนนแบบนี้" สุบินทร์ กล่าวอย่างทดท้อ
 ขณะที่ "บุญซ่อน" วัย 41 ปี จากหนองคายเช่นกัน บอกคล้ายๆ กันว่าอยากจะกลับบ้านมาหลายวันแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้องการอยู่ร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ยุบสภา แต่รถที่มาด้วยรวมถึงคนอื่นๆ ไม่ยอมรอ ก่อนหน้าจะมาร่วมประท้วงได้รับคำยืนยันจากแกนนำว่าจะมีรถไปรับไปส่ง แต่สุดท้ายกลับไม่มี จึงจำเป็นจะต้องโดยสารรถไฟฟรีกลับบ้าน ไปหาลูกเมีย
 ด้าน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สถานีรถไฟหัวลำโพง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในวันที่ 15 มีนาคม เป็นต้นมา มีกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยรถไฟจำนวนมาก แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากเหตุผลใด อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้มักจะมาช่วงเย็นๆ รอจับจองที่นั่งบนขบวนรถไฟ โดยเฉพาะสายอีสานที่จะออกตอน 2-3 ทุ่ม โดยวันที่ 15 และ 16 มีนาคม มีมากเป็นพิเศษ 
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้โดยสารที่รอรถไฟอยู่ตามชานชาลาสายเหนือและอีสานส่วนใหญ่จะใส่เสื้อสีแดง และโบกี้รถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย โบกี้ที่ 3-10 หรือ 6 โบกี้หลังจะมีผู้โดยสารคลาคล่ำไปด้วยคนสวมเสื้อสีแดง จากการสอบถามได้ความว่าส่วนใหญ่มาร่วมชุมนุมแล้วถูกรถกระบะทิ้งไว้ จนต้องอาศัยรถไฟฟรีกลับภูมิลำเนาของตัวเอง
 นอกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว ที่สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ความว่า เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเสื้อแดงทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะรถโดยสารกรุงเทพฯ-อุดรฯ ขอนแก่น โคราช และอุบลราชธานี
 








ข่าวที่เกี่ยวข้องทักษิณอัดกรรมการสิทธิฯโอกาสสงบศึกหดหาย วิพากษ์ศิลปินคนเสื้อแดง...สังคมจะมองอย่างไร?สารพันตำรวจ : แดดเผา...สี (กากี) ทนได้ !ทักษิณไม่ใช่คนไทยแล้วเสื้อแดงคึกคนตจว.สมทบเพลินขึ้นเวทีร้องเพลง

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive