Monday, February 4, 2013

เอแบคโชว์โพลย้อนหลัง ยันไม่มั่ว อัดนักการเมืองหยุดใช้โวหารโจมตี

เอแบคโชว์โพลย้อนหลัง ยันไม่มั่ว อัดนักการเมืองหยุดใช้โวหารโจมตี
ผอ.เอแบคโพลล์ จวกนักการเมืองหยุดใช้โวหารอัดสำนักโพลมักง่าย ซัดกลับโกหกผ่านสื่อชี้นำตัวเองไร้ตัวเลขสถิติ รับเป็นไปไม่ได้ที่โพลจะไม่ชี้นำ พร้อมอ้างอิงผลโพลย้อนหลังทำนายใกล้เคียง หยิบกรณี สมัคร สุนทรเวช ได้เกินล้านคะแนน ระบุชัดอย่ายึดมั่นถือมั่นเชื่อโพล เพราะมีความคลาดเคลื่อน แต่อย่ามองข้าม...เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2556 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยแพร่บทความ อย่าเชื่อโพลตอน 2 ภายหลังได้ทำตอน 1 เมื่อปี 2551 เพื่อย้ำถึงความน่าเชื่อถือของผลโพลว่า อย่าเชื่อโพล เพราะในการทำโพลมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน แต่เหตุที่ต้องทำโพล เพราะถ้าไม่มีการทำโพลในสังคมประชาธิปไตย จะพบว่า เมื่อเปิดโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ขึ้นมาเพื่อติดตามข่าวสาร ซึ่งพื้นที่ข่าวของการให้สัมภาษณ์เกือบร้อยละ 100 เป็นเสียงของคนชนชั้นนำ เช่น นักการเมือง นายทุน นักวิชาการ นักวิเคราะห์ข่าว และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ผลที่ตามมา สังคมจะถูกชี้นำโดยชนชั้นนำเหล่านี้ แต่การทำโพลเป็นเสียงของคนทุกชนชั้นส่วนคำถามว่าโพลเป็นการชี้นำหรือไม่นั้น ถามว่ามีอะไรบ้างที่มนุษย์พูดออกมาและไม่เป็นการชี้นำ เพราะทันทีที่มนุษย์พูด หรือแสดงพฤติกรรมอะไรออกมา ล้วนแต่มีส่วนชี้นำด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่จะพูดทิ้งท้ายว่า “แล้วแต่จะพิจารณา” ก็ตาม ดังนั้น เมื่อคณะวิจัยตระหนักถึงเรื่องการชี้นำ จึงต้องหาทาง “ลด” การชี้นำ แต่ไม่มีทางหมดไปได้ โดยอาศัยหลักสถิติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บางคนโจมตีว่า โกหกยิ่งกว่าโกหกคือ สถิติ เป็นสำนวนของผู้ที่ต้องการหักล้างการใช้หลักสถิติ และต่อต้านการทำโพล ผมจึงชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยบางคนใช้หลักสถิติ เพื่อปกปิดข้อมูลบางอย่าง และเปิดเผยบางอย่าง แต่เราก็จะพบว่า มันง่ายกว่าที่จะโกหกโดยไม่มีตัวเลขทางสถิติมายืนยัน และสังคมมักจะถูกคนบางกลุ่มโกหกผ่านสื่อมวลชน โดยไม่มีข้อมูลสถิติมารับรองความถูกต้องอยู่บ่อยๆ เช่น นักการเมืองบางคน บอกว่าผู้สมัครของตนชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่มีข้อมูลวิจัยใดๆ มายืนยัน ล่าสุดมีนักการเมืองบางคน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านความเติบโตในฐานเสียงของฝ่ายตรงข้าม ออกมาโจมตีโพลสำนักต่างๆ ว่า นักทำโพลเป็นพวกมักง่าย ทำโพลมากี่ครั้งๆ ในอดีตที่ทำนายผลการเลือกตั้งผิดพลาดมาตลอด ซึ่งเราลองมาดูกันว่าใคร เป็นพวกมักง่ายในข้ออ้างที่พูดโดยต้องการชี้นำสังคมให้คล้อยตามและตรงกับความเป็นจริงหรือไม่พร้อมมีการอ้างอิงว่า เอแบคโพลล์ทำนายผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 ว่า ดร.พิจิตต รัตตกุล จะชนะการเลือกตั้ง ต่อมาสมัย นายสมัคร สุนทรเวช บอกว่านายสมัครจะได้เกินกว่า 1 ล้านคะแนน และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ทำนายว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ร้อยละ 44.07 ผลการเลือกตั้งจริงได้ร้อยละ 45.93 และในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2552 ในโค้งแรก บอกว่า ม.ล.ปลื้ม เทวกุล ได้ร้อยละ 37.0 แต่ยังมีการสำรวจต่อเนื่องไปจนถึงโค้งสุดท้าย ที่พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ร้อยละ 44.40 และผลการเลือกตั้งจริง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ร้อยละ 45.41 ดังนั้น การที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองระบุว่า นักทำโพลทำนายผิดพลาดมาโดยตลอด ทางคณะวิจัยเอแบคโพลล์ต้องขอร้องให้ผู้พูดตรวจสอบข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ใช้สำนวนโวหารชี้นำสังคม โดยเลือกเอาข้อมูลเฉพาะจุดว่าสนับสนุนการชี้นำของตัวเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศเรียกว่า “พิกกี้” (Picky) หมายถึง พวกที่ชอบหยิบบางจุดบางประเด็นมาสนับสนุนความชอบธรรมในคำพูดของตน แต่ละทิ้งจุดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองต้องการชี้นำอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมา จะมีข้อมูลยืนยันให้เห็นว่า ผลโพลใกล้เคียงความจริงมากเพียงไร แต่อย่าเชื่อโพล เพราะโพลเป็นเรื่องของการสำรวจจากตัวอย่างที่มีสองประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ หลักความเป็นตัวแทนเกิดขึ้น เมื่อให้โอกาสกับการถูกเลือกกับทุกคนในประชากรเป้าหมายที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้น สำนักโพลต้องมีฐานข้อมูลลงไปให้ถึงระดับครัวเรือนอย่างครอบคลุม บางสำนักใช้วิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์อย่างเดียว จะพบปัญหาแห่งความไม่ครอบคลุม ถ้าคนที่ถูกศึกษาคิดแตกต่างไปจากคนที่ไม่ถูกศึกษา นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของนักทำโพลในสังคมไทยคือ ส่งนักศึกษาไปเก็บข้อมูลโพลเลือกตั้งแบบเฉพาะเจาะจงตามร้านชา กาแฟ ห้างสรรพสินค้า แหล่งผู้คนเดินไปเดินมา ไม่ได้ลงไปที่ครัวเรือน ยิ่งไปกว่านั้น การทำโพลโดยให้คนโทรเข้ามาโหวต เสนอตัวเข้ามาตอบเอง เป็นวิธีที่ทำลายหลักการแห่งความเป็นตัวแทน ส่วนหลักของความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของการทำโพล แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการเลือกตัวอย่าง และความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตัวอย่าง โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้เกิดจากแบบสอบถามที่ไม่มีคุณภาพ เกิดจากอคติของผู้ตอบ และอคติของผู้ถาม รวมถึงการประมวลผลข้อมูลผิดพลาด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อตระหนักและเล็งเห็นเช่นนี้แล้ว จึงอย่าเชื่อโพลและอย่ายึดมั่นถือมั่น แต่ก็อย่าดำรงตนในความประมาท อย่ามองข้าม แต่ควรนำข้อมูลผลโพลที่ค้นพบไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ แล้วตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะเอแบคโพลล์เชื่อว่า ประชาชนไม่ได้เป็นเพียงผู้รับ แต่ประชาชนเป็นผู้ที่สามารถตอบโต้หรือไตร่ตรองด้วยตนเองได้ และตัดสินใจเลือกคนที่ใช่สำหรับตนเองในวันเลือกตั้ง.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive