Friday, March 1, 2013

ส.ว.จี้รบ.แจงข้อมูลเจรจาบีอาร์เอ็น

ส.ว.จี้รบ.แจงข้อมูลเจรจาบีอาร์เอ็น
ส.ว.จี้รัฐบาลแจงข้อมูลเจรจาบีอาร์เอ็น ต่อคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตือนเดินให้รอบคอบ หวั่นยกชื่อ “ทักษิณ” ทำสถานการณ์ป่วนอีก ...วันที่ 1 มี.ค. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การลงนามเพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กับแกนนำบีอาร์เอ็นว่า ได้คุยกับหลายคนที่มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาเราถือเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่เมื่อ สมช.ไปลงนามเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้คู่กรณี หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นการยกระดับให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ประเด็นคือ นายฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เป็นใคร รัฐบาลต้องชี้แจงรายระเอียดต่อคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทราบ เพราะคนในพื้นที่ไม่เคยได้ยินชื่อ และไม่ทราบที่มาที่ไปของนายฮาซัน แต่รัฐบาลไทยกลับไปลงนามแต่งตั้งให้เป็นคู่เจรจา ซึ่งอาจเป็นการเปิดเวทีไปสู่ระดับสากล ดังนั้น ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา ต้องใช้ความระมัดระวัง ที่ผ่านมาเราระวังมาตลอดเพราะไม่รู้ใครอยู่เบื้องหลัง แต่การลงนามดังกล่าวเท่ากับพลิกประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดภาคใต้ นายอนุศาสน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลมาเลเซียเข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้ รัฐบาลไทยควรพิจารณาความเห็นของพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียด้วย เพราะอีกไม่กี่เดือนมาเลเซียจะมีเลือกตั้งใหม่ ตนมีประเด็นที่ติดใจคือความเร่งรีบลงนาม โดยไม่มีรายละเอียดและผลที่คาดว่าจะได้ภายหลังการเจรจา เห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ต้องไม่รวบรัด ตัดตอน หรือลัดวงจร รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดว่าอีก 2 สัปดาห์ที่จะมีการคุยกันอีกรอบที่มาเลเซียจะไปคุยเรื่องอะไรบ้าง ต้องเปิดเผยกับประชาชน หรือรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำหนดไว้ ที่เรียกว่าเป็นกุญแจที่สู่สันติภาพ ประเด็นคือคนไทยต้องรู้ว่ากำลังมอบกุญแจเมืองให้ใคร ในพื้นที่ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม เมื่อรัฐบาลลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว จะทำให้ความรุนแรงลดลงหรือไม่ หรือยุติได้หรือไม่ ถ้ายังมีความรุนแรงมีอยู่จะคุยกันต่อหรือ ซึ่งตนจะเสนอให้มีการหารือเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการใน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี กล่าวว่า การพูดคุยไม่ว่าจะเป็นระดับไหนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเริ่มต้น เพียงแต่เราต้องมีความอดทน มีเอกภาพในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สมช. ที่สำคัญอย่าหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้ประสาน ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวว่าจะไปไม่ถึงจุดที่ต้องการได้ แต่ผู้ปฏิบัติจะต้องยอมรับในแนวนโยบาย ต้องพูดคุยทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราต้องมีความอดทนให้มากเพราะหากมีใครอุตริ หรือเกิดสถานการณ์ร้ายขึ้นมาในช่วงทำข้อตกลงจะปฏิบัติอย่างไร การประสานงานครั้งนี้ในส่วนของมาเลเซียทราบว่าได้เปลี่ยนหน่วยงาน โดยให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวกลางประสาน ก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะทางมาเลเซียเองก็จะได้ประโยชน์หากเหตุการณ์สงบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ทั้งนี้การพูดคุยต้องทำให้ได้ทุกกลุ่มเป็นระบบ ถึงจุดๆหนึ่งคนที่มาพูดคุยจะต้องเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มอย่างแท้จริง จึงจะสำเร็จ เท่าที่ดูในกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ก็มีท่าทีในทางที่ดี นายประเสิรฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยสันติภาพ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ควรเป็นการลงนามแบบลับๆ ไม่ควรประกาศให้ทราบโดยทั่ว เพราะอาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพื้นที่ได้ มีข้อห่วงใย 3 ประเด็นคือ 1.การเปิดเผยว่ามีการลงนามออกมาทันที อาจสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้บีอาร์เอ็นนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ตามที่เลขาธิการโอไอซีพยายามทำอยู่เพื่อขยายผลต่อ แต่ประเทศสมาชิกยังไม่เอาด้วยเท่านั้น 2.ต้องระมัดระวังเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจแทรกซ้อนขึ้นได้ เพราะกลุ่มอุดมการณ์ที่เคลื่อนไหวร่วมกับบีอาร์เอ็นบางส่วน อาจไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่กลุ่มผลประโยชน์อื่นในพื้นที่ เพราะคนที่มีผลประโยชน์จากความไม่สงบมีอยู่มาก 3. เมื่อ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ชื่นชม และยก พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีส่วนช่วยประสานให้เกิดการเจรจานั้น อาจเป็นผลลบทำให้เกิดเหตุไม่สงบขึ้นอีก ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่พอใจและเจ็บแค้น พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีกรือเซะ ตากใบ ส่วนกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่หลังการเลือกตั้งฯผู้ว่า กทม. นั้น ร.ต.อ.เฉลิม มีภาพติดลบมาก ทั้งการพูดและการกระทำ ทำคนในพื้นที่ไม่ให้การยอมรับ จึงควรจะหยุดพูดและตั้งใจทำงานมากกว่านี้ ด้าน พล.อ.เกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเริ่มต้นของรัฐบาลในการนำไปสู่ความสงบของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว มีหลายกลุ่ม ไม่รู้ว่ากลุ่มอื่นจะเอาด้วยกับความคิดนี้หรือไม่ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยการให้กลุ่มคนในระดับล่างๆ คุยกันก่อน.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive