Sunday, February 10, 2013

ปปง.ยึดอายัดตัดวงจรเงิน(ดำ)

ปปง.ยึดอายัดตัดวงจรเงิน(ดำ)
                คำสั่งอายัดที่ดินบ่อนเตาปูนมูลค่า 10.8 ล้านบาท ของ "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน" (ปปง.) ทำเอาคอการเมืองวิจารณ์กันให้แซดว่า เป็นการใช้ ปปง.ให้เป็นเครื่องมือเล่นงานกันในทางการเมือง หวังผลต่อฐานคะแนนเสียงในชุมชนเตาปูน                 หลายคนสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ปปง. หลังจากปฏิบัติการ "ยึดอายัดทรัพย์" โดย ปปง.หายไปหลายปี ส่วนหนึ่งเพราะปปง.ไม่มี "เลขาธิการและคณะกรรมการธุรกรรม"                 หลังจากผ่านมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่มีการตั้ง "เลขาธิการ" และบอร์ด ปปง." จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 จึงมี "กรรมการธุรกรรมครบ 5 คน" การประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 จึงมีคำสั่งยึดครั้งแรกแต่เป็นคดียาเสพติด จากนั้นปปง.ก็เริ่มมีผลงานยึดอายัดทรัพย์คดีค้ามนุษย์ และก่อการร้าย ตามมาอย่างต่อเนื่อง                 แต่ที่โด่งดังและกล่าวถึงมากคือ กรณี "บ่อนเตาปูน" เพราะถูกหยิบมาโยงเรื่องการเมืองในช่วงที่มีการเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." ด้วยนั่นเอง                 หากมองในแง่การใช้ "หน่วยงานของรัฐ" ที่มีทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" (ดีเอสไอ) หรือ "ปปง." ไปกระตุกขา "ฝ่ายตรงข้าม" ย่อมส่งผลต่อการทำงาน อย่างน้อยก็ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวเตรียมเอกสารเข้าชี้แจง                 จึงไม่แปลก ที่ผ่านมาหลายคดี ที่ "ดีเอสไอ" ดูเหมือนเร่งดำเนินการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาล                 จนบางครั้งดูเหมือนทำหน้าที่ "แก้ต่าง" ให้ฝ่ายการเมือง                 และเมื่อมาถึงคราว "ปปง." จึงถูกจับตามองเรื่องการทำคดีช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เสมือนการ "ตัดท่อน้ำเลี้ยง" ของฝ่ายตรงข้าม                 หรืออีกนัยหนึ่งก็เสมือนเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู"                 เพราะจากการให้สัมภาษณ์ของ "พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์" เลขาธิการ ปปง.เตรียมจะสั่งอายัดบ่อนพนันใหญ่ๆ อีก 2-3 แห่ง                 ดังนั้นบ่อนใหญ่และดัง เช่น บ่อนกิ่งเพชร, บ่อนบางนา, บ่อนบางบอน ก็ให้ระมัดระวัง เพราะถ้าดูจากวิดีโอที่ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำมาอภิปรายในสภาก็อาจจะอยู่ในข่ายตามกฎหมายฟอกเงิน                 "สีหนาท" ยืนยันว่า คำสั่งอายัดที่ดินบ่อนเตาปูนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการเมือง!                 ก่อนหน้านี้มีการเสนอเรื่องให้ "คณะกรรมการธุรกรรม" อนุมัติให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินตั้งแต่ต้นปี 2555 เนื่องจากการบุกทลายบ่อนเตาปูน จับกุมนักพนันในบ่อนได้กว่า 100 คน จึงถือเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงินที่กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่า 100 คน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป                 เมื่อการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการเงินพบธุรกรรมการเงินต้องสงสัย จึงนำเรื่องกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมอีกครั้ง จนกระทั่งมีมติให้อายัดที่ดิน                 "สีหนาท" ชี้แจงว่า กรณีบ่อนเตาปูนเป็นเพียงการอายัดที่ดินไว้ 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ นายสามารถ สิงห์จำนง ซึ่งมีอาชีพขายอาหารตามสั่งในชุมชนเตาปูน ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นำหลักฐานเข้าชี้แจงแสดงที่มาของทรัพย์สินภายใน 30 วัน หากชี้แจงได้ว่าเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริง ไม่ใช่ถือครองแทนใคร และทรัพย์สินที่มีไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็เพิกถอนอายัด แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ ปปง.จะส่งสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป                 สำหรับการอายัดที่ดิน "โรงเรียนญีฮาดวิทยา" หรือ "ปอเนาะญีฮาด" ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน หมู่ 3 ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ ราคาประเมิน 5.9 แสนบาท จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจและดีเอสไอ พบพฤติการณ์สนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และก่อนหน้านี้ ปปง.ได้สั่งอายัดทรัพย์โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือปอเนาะสะปอม จ.นราธิวาส มูลค่า 3 ล้านบาท โดยอนุญาตให้เปิดสอนได้ แต่ห้ามใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกอาวุธ                 หากฝ่ายการเมืองไม่อยากถูกเช็กบิลด้วยกฎหมายฟอกเงิน คำแนะนำคือ ต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือทำผิดอย่าให้ถูกจับได้ โดยเฉพาะความผิดตาม 21 มูลฐานของกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ ซึ่งขยายเพิ่มจาก 9 ฐานความผิด ที่เคยกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเก่า เช่น                 (1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (2) ความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี (3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง (4) การยักยอก (5)ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ (6) รีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร (7) การลักลอบหนีศุลกากร (8) การก่อการร้าย (9) ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่า 100 คน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป (10) การเป็นสมาชิกอั้งยี่                 (11) การรับของโจรอันมีลักษณะเป็นการค้า (12) การแปลงเงินตรา (13) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลักษณะเป็นการค้า (14) การปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการค้า (15) ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองลักษณะเป็นการค้า (16) ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกาย เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน (17) การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์ (18) การลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ (19) การกระทำอันเป็นโจรสลัด (20) การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (21) ความผิดเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ของอาวุธที่ใช้หรืออาจนำไปใช้ในการรบ                 ตัวอย่างทั้ง 21 ฐานความผิดนี้ หากทำตรงไปตรงมา ถือเป็นการตัดวงจรธุรกิจสีเทาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจบางประเภทที่เป็นทุนสนับสนุนการเมืองไทยในทางลับ เพื่อทำสิ่งผิดกฎหมาย หากสามารถตัดเส้นทางไม่ให้เงินดำถูกส่งไปหว่านซื้อเสียงผ่านการเลือกตั้ง น่าเชื่อว่าจะเป็นใบเบิกทางสู่ถนนประชาธิปไตยได้อีกทางหนึ่ง    .................. (หมายเหตุ : ภารกิจ ปปง. 'ยึด-อายัด' ตัดวงจรเงิน(ดำ)หนุนการเมือง : ขยายปมร้อน โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย)

No comments:

Post a Comment

Blog Archive