Tuesday, January 22, 2013

ตลกร้ายผู้ใหญ่ลีขอดเกล็ดการเมืองยุคเร่งพัฒนา

ตลกร้ายผู้ใหญ่ลีขอดเกล็ดการเมืองยุคเร่งพัฒนา
               การสูญเสียครูเพลงระดับตำนาน "พิพัฒน์ บริบูรณ์" หรือ "อิง ชาวอีสาน" เจ้าของบทเพลงเสียดสีการเมืองอันลือลั่นอย่าง "ผู้ใหญ่ลี" อาจนำความโศกเศร้ามาสู่วงการเพลง ทว่าสมบัติทางภูมิปัญญาที่ "ครูพิพัฒน์" ได้ฝากไว้บนแผ่นดินนี้ใช่จะเลือนหาย หรือดับสูญไปด้วย                ปรัชญาการทำเพลงของ ครูพิพัฒน์ ท่านเล่าให้ฟังว่า เน้นเพลงทำนอง พื้นบ้านอีสาน โดยนำวงดนตรี "พิพัฒน์บริบูรณ์" ไปแสดงแถบภาคอีสาน ซึ่งในยุคนั่นมีนักร้องในวงหลายคน อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ, เพชร พนมรุ้ง, ชาย ชาตรี, นํ้าผึ้ง บริบูรณ์ และดาว มรกต หรือ สรวง สันติ                ต่อมาได้แต่งเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ภายใต้นามแฝง "อิง ชาวอีสาน" เป็นเพลงลูกทุ่งเสียดสีสังคม ขับร้องโดย "ศักดิ์ศรี ศรีอักษร" โด่งดังในช่วงประมาณปี 2504 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ซึ่งดัดแปลงมาจาก "รำโทน" เนื้อหาเป็นเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางวงเคยนำมาร้องล้อเลียนและได้รับความนิยมมากมาย                "ผู้ใหญ่ลี" คือ สัญลักษณ์ในชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของครูพิพัฒน์ สามารถนำข้อเท็จจริงในสังคมยุคสมัยนั้นสะท้อนผ่าน "ดนตรี" ฉายให้เห็นภาพอดีตที่สังคมไทยมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก เมื่อปี 2503 มีการปรับปรุงแก้ไขปี 2503 สมัยนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้พันธกิจ "ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย" โดยมุ่งนำความเจริญสู่พื้นที่ชนบทจนชาวบ้านพูดติดปากว่า "ยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"                "ทักษ์ เฉลิมเตียรณ" เขียนบันทึกเรื่อง "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เนื้อหาช่วงหนึ่งได้ยกสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ สะท้อนการเมือง "ยุคผู้ใหญ่ลี" ว่า "ท่านคงจะได้เห็น หรืออาจจะรู้สึกรำคาญที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องพัฒนาการอยู่ทุกวันทุกเวลา ข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เคยมีบางท่านทักท้วงว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น ความสะอาด ถนนหนทาง ร้านตลาด แม่น้ำลำคลอง ความเป็นไปในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องส้วม"                ทว่าสาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอก หากเป็น "ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์" ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทของรัฐและกลไกของรัฐ                ที่สำคัญสะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร อีกทั้งยังสะท้อนการศึกษาที่ล้าหลังของประชาชนในภาคอีสาน ตลอดจนสะท้อนความเข้าใจที่ต่างระดับ ระหว่าง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" กับ "ผู้นำชาวบ้าน" และ "ชาวบ้าน" ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม                อย่างที่ "แวง พลังวรรณ" เรียบเรียงไว้ใน "อีสานคดีชุด ลูกทุ่งอีสาน" อธิบาย "ปรากฏการณ์ผู้ใหญ่ลี" ว่า ผู้แต่งจะเป็นใครก็ช่างเถิด แต่สิ่งที่ได้รังสรรค์จนเป็นคำร้องเพลงผู้ใหญ่ลีนั้น มันล้ำลึก ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนผู้มีทักษะในการแต่งเพลงลูกทุ่งธรรมดา เกินกว่าที่คนคลุกคลีสัมผัสชีวิตของชาวอีสานเพียงผิวเผิน เกินกว่าที่คนที่มีแนวคิดต่อการพัฒนาชนบทอย่างธรรมดาจะคิด และหยั่งไปถึง                "สิ่งที่ควรยกย่องและสดุดีบุคคลทั้งสอง-พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร (คนร้อง) เฉพาะหน้า ณ เวลานี้ และควรยกย่องได้อย่างสนิทใจ คือ ความกล้าหาญที่คนทั้งสองได้นำเอาเพลงผู้ใหญ่ลี ออกเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ทั้งสองยังเป็นผู้ริเริ่มเอาเพลงและศิลปะการร้อง-ลำ ของชาวอีสานในรูปแบบต่างๆ ออกเผยแพร่และบันทึกไว้เป็นแผ่นเสียงให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซาบซึ้ง"                แม้ว่าเพลงผู้ใหญ่ลีจะโด่งดัง แต่เพิ่งได้รับการบันทึกเสียงเมื่อปี 2507 กลายเป็นเพลงฮิตในเวลาอันรวดเร็ว กระทั่ง "ศักดิ์ศรี ศรีอักษร" กลายเป็นนักร้องชื่อดัง ได้เข้าไปขับร้องในไนต์คลับหรูในกรุงเทพฯ อีกทั้งมีการดัดแปลงคำร้องเป็นเพลงภาคต่ออีกหลายฉบับ เช่น ผู้ใหญ่ลีเข้ากรุง ผู้ใหญ่ลีหาคู่ เมียผู้ใหญ่ลี ลูกสาวผู้ใหญ่ลี ผู้ใหญ่ลีผู้ใหญ่มา และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ลูกสาวผู้ใหญ่ลี ในปี 2507 นำแสดงโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร และ ดอกดิน กัญญามาลย์                ขณะเดียวกัน ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้นำมาขับร้องใหม่ในจังหวะ "วาทูซี" (Watusi) ใช้ชื่อเพลงว่า"ผู้ใหญ่ลีวาทูซี" ทั้งนี้ เพลงผู้ใหญ่ลี ได้รับเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2534 และได้รับการบันทึกเสียงใหม่อีกหลายครั้งโดยนักร้องคนอื่นๆ เช่น นุภาพ สวันตรัจฉ์, หนู มิเตอร์, ไก่ พรรณิภา และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารกรุงไทย เมื่อ พ.ศ.2547 จนถูกประท้วงจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย                ดวงเจิดจรัสบนห้วงนภา ย่อมมีวันดับสูญตามกาลเวลา ถือเป็นธรรมดาของโลก...หลับสบายเถิด "ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์" เพลง "ผู้ใหญ่ลี" คำร้อง อิง ชาวอีสาน ทำนอง พื้นเมือง ขับร้อง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา สายัณห์ตะวันร้อนฉี่ ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง ฟ้าแจ้งฟ้าแจ้งจางปาง คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์ รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา เขียงน่อยเขียงน่อยซอยซา เขียงน่อยเขียงน่อยซอยซา ......... (หมายเหตุ : ตลกร้าย'ผู้ใหญ่ลี' ขอดเกล็ดการเมืองยุคเร่งพัฒนา)

No comments:

Post a Comment

Blog Archive