Thursday, March 28, 2013

มาร์ค ชี้ รัฐอ้างจำเป็น กู้2ล้านล้านฟังไม่ขึ้น

มาร์ค ชี้ รัฐอ้างจำเป็น กู้2ล้านล้านฟังไม่ขึ้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ รัฐอ้างเหตุจำเป็นกู้เงิน 2 ล้านล้าน ฟังไม่ขึ้น เหตุลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สามารถใช้งบปกติได้ ห่วงเศรษฐกิจโลกผกผัน จะทำให้เป็นหนี้มากกว่า 50 ปี...  ยก 3 เหตุค้านการกู้เงิน 2 ล้านล้านวันนี้ (28 มี.ค.56) เวลา 11.20 น.ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายเป็นคนแรกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่การพัฒนาไม่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากขนาดนี้ และเป็นห่วงต่อมุมมองในการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลมุ่งเฉพาะเรื่องขีดความสามารถและยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เพราะไม่ได้มีแค่การคมนาคมขนส่งเท่านั้น ที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 กว่าของโลก แต่ในภาพรวม เช่น สาธารณสุข ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 70 กว่า การศึกษาอยู่อันดับเกือบ 90 กลับไม่ได้รับความสนใจ การที่รัฐบาลอ้างว่าจะหลุดพ้นปัญหาขีดความสามารถ โดยคิดแค่เรื่องการขนส่งคมนาคมเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ไม่ลงทุนด้านอื่น ทั้งการศึกษา สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้จัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ตนมี 3 เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินครั้งนี้ คือ 1.เงินในงบประมาณไม่พอที่รัฐบาลจะขอกู้เพิ่ม 2 ล้านล้านบาทในเวลา 7 ปี เฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท จับโกหกรัฐบาล ยกข้อมูลรัฐอ้างต่อศาลมัดกลางสภา “ผมเอาตัวเลขที่รัฐบาลโดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะแถลงไว้ว่า ในแต่ละปีจนถึง 2563 จะใช้เงินเท่าไหร่ เช่น ที่ต้องออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ปี 2556 ใช้ 27,209 ล้านบาท ปีที่ใช้มากที่สุดคือ 2559 ใช้ 382,490 ล้านบาท ถึงไม่กู้ ก็สามารถหาเงินมาบริหารงานระบบงบประมาณได้ เพราะ รมว.คลัง แถลงถึงการจัดทำงบประมาณไว้โดยปี 57 ขาดดุล 2.5 แสนล้าน และสมดุลในปี 2560 หากนำแผนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล มาบวกกับเงินที่จะใช้ 2 ล้านล้านบาท จะพบความจริงว่า เงินที่จะใช้จ่ายสามารถจัดเป็นงบขาดดุลโดยไม่กระทบเพดานเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกู้ แต่ใช้ระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็มีเงินเพียงพอที่จะทำโครงการเหล่านี้ ถ้าการมาขอไปกู้เงินนอกระบบปกติโดยอ้างว่า รัฐบาลมีเงินไม่พอ คำตอบคือไม่จริง ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้ ในวันที่ออก พ.ร.ก.โอนหนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงต่อศาลว่า เพื่อให้เพดานกรอบงบประมาณสามารถที่จะใช้ได้ คือที่ต้องโอนหนี้ออกไป เพราะจะต้องทำงบประมาณขาดดุลให้ถึงเพดานหนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อและอนุญาต แต่ท่านกลับไม่ใช้เพดานเงินกู้ที่ท่านไปขอมา แต่กลับใช้การกู้เงินนอกงบประมาณแทน เหตุผลจึงฟังไม่ขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว โยง “รัฐทักษิณ” ใช้งบประชานิยม ละเลยพัฒนาพื้นฐาน นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 2.กฎหมายหรือระเบียบเป็นเครื่องมือ ไม่จำเป็นต้องกู้ เพราะสภาเพิ่งผ่านกฎหมายปรับปรุงกติกาเกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่เป็นรูปแบบการลงทุนซึ่งประเทศต่างๆ พยายามใช้ ถ้าให้เอกชนมาร่วมลงทุนอย่างจริงจัง ตัวเลขลงทุนจะไม่สูงถึง 2 ล้านล้าน ทำไมจึงอ้างว่าต้องกู้เงินมาทำโครงการ ทั้งที่มีเครื่องมือทางกฎหมายในการร่วมทุน 3.เรื่องของการเมืองไม่ว่าจะมีการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ไม่เกี่ยว เพราะอยู่ที่การบริหารของรัฐบาลและการตัดสินใจทางการเมือง ทั้ง นายกฯและรมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการเหล่านี้ คิดแต่ไม่ได้ทำ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญและการตัดสินใจทางการเมือง ที่จะเดินหน้าโครงการหรือไม่ ทั้งถนนสี่ช่องทางจราจร รถไฟรางคู่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อนุมัติคนแรก แต่จากปี 45 เป็นต้นมา การลงทุนน้อยก็เพราะรัฐบาลในขณะนั้นจัดลำดับความสำคัญให้งบประมาณกับโครงการประชานิยมมากกว่า โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ถนนและระบบรางแทบไม่มีการลงทุน แม้กระทั่งการซ่อมแซม ยังจัดงบไม่เพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลแต่ละชุด ไม่ใช่เรื่องว่ามีเงินหรือไม่ เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุขที่เสื่อมโทรมไปช่วงหนึ่งเพราะต้องหางบประมาณมาจัดทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  หวั่น 4 ปัญหาเกิดหากสภาผ่านเงินกู้ครั้งนี้ ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างเรื่องการเชื่อมโยงอาเซียนนั้น พวกตนเป็นคนเสนอให้เป็นวาระอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะคัดค้านการเชื่อมโยงกับภูมิภาค หรือระบบราง เพราะรัฐบาลที่แล้วผลักดันกฎหมายตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ วันนี้ท่านจะลดต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มอีก 2% แต่ขอกู้ 2 ล้านล้านบาท ทั้งๆ ที่ในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาล ทั้งการลดต้นทุนโลจิสติกส์และรถไฟความเร็วสูง ที่เจรจากับจีนทำได้โดยไม่ต้องกู้ 2 ล้านล้าน แต่จะทำในรูปแบบการร่วมทุน ซึ่งในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ลงคะแนนให้เมื่อมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และจะมีปัญหาเกิดขึ้น 4 ด้าน หากสภาผ่านร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คือ 1. ปัญหาวินัยทางการคลัง ตอนที่ตนเป็นรัฐบาล พวกท่านคัดค้านการกู้เงิน บอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ แล้วรัฐบาลนี้ก็หาเสียงว่าไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายล้างหนี้ให้ประเทศ ตนต้องดูอีกครั้งว่าล้างหรือสร้าง เพราะเป็นการกู้เงินมากกว่า ตอนไอเอ็มเอฟ มากกว่าตอนที่รัฐบาลทักษิณ กู้เพื่อนำเงินมาทำกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งในช่วงที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง คนที่คิดแล้วเพื่อไทยทำเคยพูดว่า “ไม่ต้องกู้สักบาท มีวิธีบริหารจัดการ” แต่ทำไมวันนี้ ถึงต้องกู้ ทั้งนี้เรื่องของวินัยทางการเงินการคลังเป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาโดยตลอด การกู้เงินขาดดุลในงบประมาณมีเพดานมีตัวกำกับที่จะดูแลไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายจนกระทบต่อเสถียรภาพ ห่วงแนวคิดรัฐตั้งบนสมมติฐานเข้าข้างตัวเอง“ ในอดีตจึงมีการกู้เงินด้วยเงื่อนไขเดียวคือ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น เช่น ต้มยำกุ้ง วิกฤติการเงินที่ผ่านมา เพราะต้องมีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจและหนี้ชนเพดานตามกฎหมายหนี้สาธารณะ แต่วันนี้ไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ โดยในวันที่ตนพ้นตำแหน่งหนี้สาธารณะประมาณ 41% แต่ตอนนี้ เพิ่มขึ้นคาดว่าจะถึง 45% ทั้งที่ยังไม่มีการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจะใช้หนี้ 50 ปี เพราะหนี้ของคนไทยคือ 5 ล้านล้าน มีดอกเบี้ยอีก 3 ล้านล้าน บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี วันข้างหน้าถ้าเกิดวิกฤติโลก ดอกเบี้ยสูงขึ้้น แผนที่รัฐบาลวางไว้จะผิดหมด ไม่ได้ใช้หนี้ได้ใน 50 ปีหรือชาติหน้า แต่จะเป็นชาติโน้น ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สวัสดิการ การดูแลสาธารณสุขจะต้องเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็น การที่เรายืนยันว่าบริหารในงบประมาณ เพื่อบังคับให้รัฐบาลมีวินัย เพราะจะต้องเลือกว่าเงินที่ประชาชนเป็นคนใช้หนี้จากการเสียภาษีควรเอาไปทำอะไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว  ตอกย้ำรัฐใช้ฟุ่มเฟือย แนะงดทำจำนำข้าว-รถคันแรกนายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างการประเมินผิดพลาดของรัฐบาล จากโครงการรถคันแรกที่มีการใช้เงินมากกว่าประมาณการ เถียงกันว่าจะใช้เงินจากตรงไหน สมมติฐานที่ระบุว่าหนี้้ไม่เกิน 50% งบจะสมดุล จะมีปัญหาจากโครงการลักษณะนี้อีกหรือไม่ และรัฐบาลทราบหรือไม่ว่า ถ้าไม่ทำรถคันแรก มีเงินทำรถไฟฟ้าสองสาย รัฐบาลควรทบทวนโครงการที่ฟุ่มเฟือยแทนที่จะใช้วิธีกู้แบบง่ายๆ เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่บังคับตัวเอง ไม่พิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อดูประโยชน์สูงสุดของประชาชน และที่ รมว.คลัง อ้างว่ากู้เงินนอกงบประมาณเพราะไม่อยากให้ขาดดุลงบประมาณเรื้อรังนั้น จะทำให้รัฐบาลทำโครงการฟุ่มเฟือยต่อไป โดยลืมไปว่ากู้เงินนอกงบประมาณไว้ ซี่งจะกระทบกับสถานะการเงินของประเทศในที่สุด นอกจากนี้สมมติฐานที่บอกว่า จะไม่ขาดทุนโครงการจำนำข้าวหลังจากปี 2556 ต้องถามว่ารัฐบาลใช้สมมติฐานอะไร เพราะในแต่ละปีขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2 ของจีดีพี ยกเว้นว่าจะเลิกโครงการจำนำข้าว ถ้ารัฐบาลเอาแสนล้านให้ชาวนาอีกแสนล้านมาทำโครงการก็ยังทำได้ แต่ที่ออกกฎหมายกู้เงินเพราะไม่ต้องการผูกมัดตัวเองว่าต้องมีวินัย ไม่ยอมลดนโยบายที่ฟุ่มเฟือย ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องกับพวกเราที่ต้องเข้มงวดกับงบประมาณเพื่อปรับปรุงปฏิรูปประเทศ นำไปสู่การลงทุนที่คุ้มค่า ไม่กระทบวินัยทางการคลัง กล้าเขียนในกฎหมายไหมว่า เมื่อมี พ.ร.บ.นี้แล้ว รัฐบาลตั้งแต่ปี 56-60 ปรับลดการขาดดุลเท่าไหร่ และหลังปี 60 จัดงบสมดุล ตนเชื่อไม่กล้าเขียนและจะไม่ดำเนินการตามนี้ ในที่สุดการกู้เงินเราไม่ได้ทำโครงการเหล่านี้ แต่กู้เพื่อทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่าต่อไป  ท้ารัฐเขียนใน พ.ร.บ.เงินกู้ ยึดระเบียบพัสดุฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 2. ที่ใช้วิธีการกู้ 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณเป็นปัญหาเรื่องระบบตรวจสอบและความโปร่งใส เพราะประชาชนก็สับสนว่า กฎหมายมีแค่ 4 หน้า บัญชีแนบท้ายอีก 2 หน้า อีก 200 กว่าหน้า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกฎหมายและไม่เหมือนกับเอกสารประกอบงบประมาณที่มีสถานะรับรองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโครงการต่างๆ ในเอกสารประกอบแปรญัตติไม่ได้เลย มีแค่ 2 หน้า ที่บอกว่า 3 แสนกว่าล้าน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาปรับเปลี่ยนเรื่องการขนส่งให้มีต้นทุนลดลง แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าการสร้างถนน รถไฟ กิโลละกี่บาท นี่คือความต่างระหว่างการอยู่ในระบบงบประมาณและกฎหมายกู้เงิน ถ้าเรื่องนี้ อยู่ในระบบงบประมาณแต่ละปีสภาจะตรวจสอบได้ว่าโครงการไปถึงไหน ทำแล้วเกิดประโยชน์หรือไม่ ตัดได้ เปลี่ยนได้ ถ้าไม่ดี หรือถ้ามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็ทำได้ แต่เมื่อใช้วิธีการกู้เงิน จะทำได้แค่รับทราบว่ารัฐบาลทำอะไรแต่ไม่มีอำนาจให้ปรับเปลี่ยน ตัด แก้ ที่สำคัญความโปร่งใสจะมีปัญหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ตนไม่ได้ระแวง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ กรณีเงิน 1.2 แสนล้านที่เอาไปฟื้นฟูน้ำท่วม จะมีระบบตรวจสอบได้ แต่ภาคเอกชนและฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบได้ จนกว่ารัฐบาลจะใช้เงินไปแล้ว กระทั่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการขุดลอกคูคลองที่มีการทุจริตมากมาย กู้เงิน 3.5 แสนล้าน ก็ยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด นายกฯ บอกว่ามีระเบียบพัสดุจะเขียนในกฎหมายได้หรือไม่ว่าจะดำเนินการตามระเบียบพัสดุสำนักนายกฯ ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่ออกมติ ครม.ยกเว้น ถ้าทำได้จะน่าเชื่อถือว่าระดับความโปร่งใสจะเป็นแบบเดียวกับระบบงบประมาณ ถามจี้ใจดำเชื่อมโลกตรงไหน ทำทางไม่ต่อเพื่อนบ้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 3. โครงการที่มีการพูดกันเป็นไปตามที่รัฐบาลโฆษณาเชื่อมไทยสู่โลกหรือไม่ เริ่มจากรถไฟความเร็วสูง ภาคอีสานถึงแค่โคราชไม่ถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมไปจีน ใต้หยุดที่หัวหินไม่ถึงปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมมาเลเซีย ไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทวาย รัฐบาลต้องตอบว่าเหตุใด กทม.-เชียงใหม่มาก่อน หนองคาย ปาดังเบซาร์ หรือทวาย ในขณะที่หลายโครงการ ยังต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน สุขภาพ 3.5 แสนล้าน มีบทเรียนแล้วว่าบางโครงการทำไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ที่จะพัฒนาท่าเรือสองฝั่งให้ชัดว่าพัฒนาระดับไหนอย่างไร เพราะประชาชนไม่ประสงค์เห็นอุตสาหกรรมหนักที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงกับธรรมชาติ ที่จะกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รัฐบาลฉายแต่ความดี ถ้าค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงเกือบเท่ากับค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ จะคุ้มค่าที่ชาวบ้านจะโดยสารหรือไม่ เพราะเงินที่จะใช้เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต ยกตัวอย่างแอร์พอร์ตลิงค์ แนวคิดดีแต่เมื่อก่อสร้างแล้วการใช้จริงคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเพิ่งมีข่าวว่าที่มักกะสันมีคนขึ้นแค่ 4 คน ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยอ้างว่าต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน ต้องนำมาใช้บริหารจัดการน้ำ มิ.ย.ต้องกู้เงินให้ครบแต่ยังไม่มีความชัดเจนในโครงการว่าจะทำอะไร แล้วการกู้ 2 ล้านล้าน จะกู้มากองไว้เพื่อให้เป็นภาระกับลูกหลานทำไม ซัดกู้มากองรอโกง เลี่ยงถูกตรวจสอบ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 4.การกู้นอกระบบงบประมาณขัดต่อหลักของประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตจะทำเมื่อเกิดวิกฤติจึงกู้ รัฐบาลที่แล้วทิ้ง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาใช้ระบบงบประมาณปกติ เพราะยึดหลักประชาธิปไตยว่าผู้แทนปวงชนชาวไทยมีสิทธิตรวจสอบการใช้เงินของประชาชน ถ้าทำแบบนี้ต่อไปรัฐบาลอาจเสนองบประมาณมีรายการเงินเดือนอย่างเดียว ลงทุนไปออกกฎหมายกู้เงิน ส.ส.ตรวจสอบไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายวิธีการงบประมาณควบคุม ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ทำ เพราะเลี่ยงระบบการถ่วงดุลตามวิถีทางประชาธิปไตย เราไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการเห็นโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ได้พิสูจน์แล้วทั้งทางการเมือง กฎหมายและการเงินว่าทำได้ภายใต้กรอบงบประมาณ อย่าทำเหมือนหลังน้ำท่วม เอาภาพสวยๆ มาฉายอนาคตบังหน้าเพื่อกู้มากอง กู้มาโกง เพิ่มหนี้ เพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศ 50 ปี 5 ล้านล้านบาท คือผลที่จะได้จากการอนุมัติกฎหมายแต่โครงการไม่มีหลักประกันว่าจะทำได้จริงตามที่มีการระบุหรือไม่

No comments:

Post a Comment

Blog Archive