Friday, February 22, 2013

เอเบคโพลล์ เตือนประชาชน พิจารณาโพลให้รอบคอบ

เอเบคโพลล์ เตือนประชาชน พิจารณาโพลให้รอบคอบ
โค้งสุดท้าย เลือกผู้ว่าฯ กทม.“เอเบคโพลล์” ออกหนังสือ “ข้อพึงระวังในการอ่านโพล” เตือนปชช.อย่าด่วนตัดสินใจ เชื่อทันที ควรพิจารณาให้รอบคอบ ชี้ อาจมีปัจจัยอื่นมากระทบทำคะแนนเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อวันที่ 22 ก.พ. สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ออกหนังสือเตือนประชาชน ระบุถึง ข้อพึงระวังในการอ่านโพล การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 10 ที่กำลังมีขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2556 มีหลายสำนักโพลได้นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ อาทิ เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บ้านสมเด็จโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฯลฯ และสำนักโพลอื่น ๆ ที่ทำการสำรวจโดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยต่อสาธารณะก็ตาม ประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอกันมากคือ คะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.โดยมีคาดการณ์ว่าผู้สมัครบางคนจะมีคะแนนนำและชนะการเลือกตั้งหากประชาชนได้รับฟังผลสำรวจเหล่านั้นขออย่าได้รีบสรุปตัดสินใจเชื่อโพลเหล่านั้นทันที ควรจะมีการพิจารณาให้รอบคอบเนื่องจากผลสำรวจที่นำเสนอนั้นอาจจะ “ไม่สอดคล้อง” กับผลการลงคะแนนจริงในวันเลือกตั้งก็เป็นไปได้ เนื่องจากเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้ประการแรก ผลโพลเป็นเพียงการสำรวจ “คะแนนนิยม” ในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ ยังไม่ใช่ผลการลงคะแนนจริง การนำเสนอผลโดยระบุว่า ใครจะได้คะแนนเท่าใด และใครจะชนะการเลือกตั้งนั้นเป็นแต่เพียง การนำเสนอข้อมูลสำรวจจาก “ตัวอย่าง” และผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของพฤติกรรมของคนที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งดังนั้นในวันเลือกตั้งประชาชน อาจจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ ก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งอย่างไรก็ได้ เนื่องจากความคิดและพฤติกรรมของคนนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ข้อมูลข่าวสาร เหตุผล ความเชื่อ ค่านิยม รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในนาทีของการตัดสินใจลงคะแนน ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างวันที่ทำการสำรวจไปจนถึงวันที่ลงคะแนนเลือกตั้งจะมีข้อมูลข่าวสารออกมามากมายที่มีผลต่อปฏิกิริยาความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ จึงทำให้ผลการลงคะแนนการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นไปตามผลจากโพลที่สำรวจก็ได้ประการที่สอง ผลโพลเกิดจากการทำสำรวจจาก “กลุ่มตัวอย่าง” (sample) ไม่ใช่การสำรวจจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดอย่างเช่นการทำสำมะโนประชากร (census) ดังนั้นผลสำรวจที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างจะต้องมี “ความคลาดเคลื่อน” (error) ไปจากผลสำรวจประชากรทั้งหมดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเกิดจากสองเรื่องที่สำคัญคือ1) ความคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง (Sampling error) ซึ่งมีอยู่สองอย่างที่ส่งผลกระทบสำคัญ โดยอย่างแรกคือความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่าง (sample size) หรือจำนวนคนที่สำนักโพลสุ่มตัวอย่างนำมาวิเคราะห์ หากจำนวนตัวอย่างมีจำนวนไม่มากพอที่จะนำมาวิเคราะห์ให้เชื่อถือได้ ความคลาดเคลื่อนก็จะสูงทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำนายคะแนนนิยมได้อย่างที่สองคือความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มหรือการกระจายตัวอย่าง (sampling method) ได้แก่ ความสามารถในการกระจายตัวอย่างที่เก็บข้อมูลให้ได้ครอบคลุมครบถ้วนตาม สัดส่วนของประชากรจริงทุกหมู่เหล่าเพียงใด สามารถอ้างอิงเป็นตัวแทนประชากร (representative) ได้ แม้ว่า การสำรวจนั้น จะใช้จำนวนตัวอย่างมากมายเพียงใด หากไม่สามารถเลือกตัวอย่างให้ได้ตัวแทนตามสัดส่วนของประชากรจริงแล้ว การวิเคราะห์ทำนายผลก็ย่อมจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้ เปรียบดังเช่น การตักแกงในหม้อ ต่อให้ตักมาเป็นชามก็อาจจะไม่รู้รสชาติที่แท้จริงของอาหารในหม้อนั้น หากไม่ได้มีการคนส่วนผสมเครื่องปรุงในแกงให้เข้ากันเสียก่อน แต่ ถ้าหากว่า มีการคนส่วนผสมในแกงให้เข้ากันเป็นอย่างดี ทำให้น้ำกับเนื้อแกงรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว อาจจะตักมาชิมเพียงแค่ช้อนเดียว ก็สามารถที่จะรู้รสชาติของแกงทั้งหม้อได้ ดังที่เคยปรากฏให้เห็นว่าการสำรวจบางครั้ง แม้จะมีการใช้จำนวนตัวอย่างเยอะเป็นแสนเป็นล้าน โดยสุ่มตัวอย่างไม่ดี อาจจะทำนายผลได้ไม่ถูกต้องแม่นยำเท่ากับการสุ่มตัวอย่างมาจากจำนวนเพียงหนึ่งพันคน ที่มีการสุ่มตัวอย่างตามระเบียบวิธีวิจัย2)ความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง (non-sampling error) ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนที่ทำให้เกิดอคติลำเอียง (bias) หรือความผิดพลาดไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสำรวจ ซึ่งเป็นความลำเอียงที่อาจเกิดจากเจตนา อาทิ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน อิทธิพลคุกคาม ค่านิยม ทัศนคติทางการเมืองและความไม่มีเจตนาของผู้วิจัย อันทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในรูปแบบต่างๆ อาทิ ความลำเอียงในแบบสอบถามหรือการตั้งข้อคำถาม ความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์หรือคนเก็บข้อมูล การไม่ให้ความร่วมมือของผู้ถูกสัมภาษณ์ การปฏิเสธการให้ข้อมูล การให้ข้อมูลเท็จ ความผิดพลาดในการจดบันทึก ความผิดพลาดตกหล่นของข้อมูลที่เก็บมาได้ ความผิดพลาดในการลงรหัสประมวลผลข้อมูล ความผิดพลาดในการเลือกใช้สถิติ ความผิดพลาดในการวิเคราะห์ ความผิดพลาดในการเขียนรายงาน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้นความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ที่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง และความอคติที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่างในการทำสำรวจ มีผลกระทบต่อความถูกต้องในระเบียบวิธีวิจัยและการควบคุมคุณภาพการสำรวจ ก่อให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการอธิบายผลหรือทำนายผลของคะแนนนิยมที่ไม่สอดคล้องเป็นไปตามความเป็นจริงความคลาดเคลื่อนนี้มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ไปจนถึงระดับมากจนทำให้การทำนายผลผิดพลาดตรงกันข้ามกับความเป็นจริงไปเลยก็ มีบางครั้งอาจมีการผิดพลาดเพียงไม่เกิน 1% (ซึ่งถือว่าแม่นยำสูง) บางครั้งอาจคลาดเคลื่อน 1-10% แต่บางครั้งอาจคลาดเคลื่อนไปถึง 30-40% เลยก็ได้ค่าร้อยละของความคลาดเคลื่อนมีผลต่อความถูกต้องในการทำนายผลคะแนนนิยมและการทำนายผลเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น โพลสำนักหนึ่ง สำรวจพบว่าผู้สมัคร ก.ได้คะแนนนิยม 45% ผู้สมัครข. ได้คะแนนนิยม 40 % ถ้าสำนักโพลนั้นระบุช่วงความคาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 3 ก็หมายความว่า สำนักโพลแห่งนั้นระบุค่าความเป็นไปได้ที่ผลการเลือกตั้งจริงสำหรับผู้สมัคร ก. จะได้ร้อยละ 42 – 48 และผู้สมัคร ข. จะได้ร้อยละ 37 – 43 นั่นหมายความว่าผู้สมัครทั้งสองท่านยังมีโอกาสพลิกสลับกันได้ในผลการเลือกตั้งจริงถ้าผู้สมัคร ก. ได้คะแนนจริงต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 42 และผู้สมัคร ข. ได้คะแนนสูงสุดของช่วงที่ร้อยละ 43 เป็นต้นแต่ถ้าผลการเลือกตั้งจริงพบว่า ผู้สมัคร ข. ได้คะแนนสูงถึงร้อยละ 45 แสดงว่า คะแนนจริงได้ทะลุเกินช่วงความคลาดเคลื่อนที่กำหนดไว้ร้อยละ 3 ในโพลของสำนักนั้นที่ระบุว่า ผู้สมัคร ข. จะได้เพียงร้อยละ 40 นั่นย่อมแสดงว่าผลโพลสำนักนั้นมีสาเหตุสำคัญบางประการที่ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพี้ยนไปจากผลการเลือกตั้งจริงทั้งที่อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนจากการเลือกตัวอย่างและความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง หรืออาจเป็นไปได้ว่าข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกิดจากจังหวะเวลาที่ยาวนานก่อน การเลือกตั้งจริงที่มีขึ้นประการที่สาม อาจจะมีปัจจัยอื่นที่มีผลแทรกซ้อนทำให้พฤติกรรมการลงคะแนนไม่เป็นไปตามปกติ ไม่สอดคล้องกับคะแนนนิยมก็เป็นไป อาทิ การซื้อสิทธิขายเสียง การให้อามิสสินจ้าง การใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคามให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปหรือไม่ไปลงคะแนน การขนคนมาลงคะแนน การกลั่นแกล้งให้ข้อมูลเท็จแก่ผู้ลงคะแนน (เช่นบอกหมายเลขผู้สมัครผิด) ตลอดจนการทุจริตการเลือกตั้ง ที่มีผลอาจทำให้ผลคะแนนการเลือกตั้งไม่สอดคล้องกับกระแสความนิยมของสังคมที่ สำนักโพลต่าง ๆ ที่ไปทำการสำรวจมาดังนั้นเมื่อเห็นผลสำรวจ “อย่าเชื่อโพล” ในทันทีให้พึงไตร่ตรองอ่านอย่างรอบคอบและระลึกเสมอว่า อาจมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการสำรวจทำนายผลการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะผลโพลไม่ใช่กรรมการตัดสินชี้ขาด ในการตัดสินใจของประชาชน แต่ที่ต้องทำโพลเพราะต้องการให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนของประชาชนทุกชนชั้น เพราะถ้าไม่มีโพล พื้นที่ข่าวเกือบทั้งหมดของการแสดงความคิดเห็นในสื่อมวลชนจะตกเป็นของกลุ่มคนชนชั้นนำที่มักจะออกมาชี้นำสังคมแต่ฝ่ายเดียวโดยปราศจากข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ

No comments:

Post a Comment

Blog Archive