Wednesday, February 6, 2013

มท.1ปัดรบ.พท.แทรกแซงสวนดุสิตโพล

มท.1ปัดรบ.พท.แทรกแซงสวนดุสิตโพล
                    6 ก.พ.56 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำโพลของส่วนดุสิตโพล มีคนของรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยเข้าไปแทรกแซง ชี้นำการสำรวจของสวนดุสิตโพลว่า ในฐานะรัฐมนตรีและดูแลกรุงเทพฯด้วย ก็พยายามระมัดระวังไม่ให้เข้าไปก้าวก่ายหรือทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่าเราไม่รู้เรื่องการแทรกแซงโพลแต่อย่างใด และไม่ได้มองว่าผลโพลที่ออกมาเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะพรรคเน้นเรื่องการเสนอนโยบายต่อประชาชนมากกว่า เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้สวนดุสิตโพลรับงานในการดำเนินงานเรื่องอบรมวิทยากรให้กับการจัดเวทีประชาเสวนา ของรัฐบาล ทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการทำงาน นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ต้องให้สวนดุสิตโพลออกมายืนยันว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงหรือไม่                     "ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้แทรกแซง และให้เกียรติกับทุกคนเพราะเห็นว่าสวนดุสิตมีความเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นจะขอร้องให้เขามาช่วยงานทำไม"                     ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยมั่นใจหรือไม่กับผลโพลสำนักต่าง ๆ ที่ระบุพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครฯผู้ว่าพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำคู่ต่อสู้ นายจารุพงศ์ กล่าวว่า โพลก็เป็นเรื่องของโพล เราไม่ได้นำมารวมกับนโยบายของพรรค และเข้าใจว่ามีการชี้นำได้ เพราะไม่ใช่มีการทำโพลเพียงสำนักเดียว แต่มีหลายสำนัก ดังนั้นผลที่ออกมาจึงมีความสมดุลกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับประชาชนคิดอย่างไร ซึ่งพล.ต.อ.พงศพัศ เน้นเสนอนโยบาย ส่วนพรรคก็ดูว่าในแต่ละพื้นที่แต่ละเขตประชาชนประสบปัญหาอะไร จากนั้นก็นำวิเคราะห์และนำแปลงมาดำเนินการเป็นนโยบาย และวันนี้ประชาชนรู้แล้วว่าการเลือกตั้งหาตัวแทนของเขาต้องเน้นว่านโยบายของใครดี นอกจากนั้นต้องปฏิบัติได้จริงหรือไม่   'มท.1' โต้กลับ 'ฝ่ายค้าน' ใส่ร้ายดูถูกคนไทยปมประชาเสวนา                       นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่ระบุว่าการเดินหน้าจัดเวทีประชาเสวนา 108 เวที ตนได้สั่งให้มีการเกณฑ์คนมา ซึ่งการไปเกณฑ์คนมานั้น อย่าเอาคนโง่มาว่า การจัดประชาเสวนา 108 จุด คือเอาเขตเลือกตั้งเป็นตัวตั้ง 1 เขตเลือกตั้งมีประมาณ 200 คน ไม่เกิน 300 คน ต่อ 1 เขตเลือกตั้ง แต่ต้องเข้าใจว่าในเขตเลือกตั้ง 1 เขต เลือกตั้งมีคนที่มีสิทธิ์ 150,000-200,000 คน ต่อ 1 เขตเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นตนได้ย้ำว่าการคัดคนเข้ามาร่วมเสวนาต้องเป็นคนที่รู้เรื่อง นอกเหนือจากทางเกณฑ์สถิติจะต้องกำหนดว่าเอากลุ่มอายุเท่าไรมาจำนวนสัดส่วนเท่าไร กลุ่มอาชีพใดเข้ามาเป็นสัดส่วนเท่าไร และกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะเป็นสัดส่วนเท่าไร นี่คือการประชุมกัน                     “ผมย้ำไปว่าขอให้พิจารณาในแต่ละกลุ่มว่า ให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องเกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญ การทำประชาพิจารณ์และหัวข้อนั้นๆ ด้วย ถ้าคนไม่รู้เรื่องอย่าเอาเข้ามา มันเสียของ แต่พรรคฝ่ายค้านก็ไปเอาคำพูดที่ผมพูดไปต่อยอดว่าผมสั่งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดว่าอย่าเอาคนโง่มานะ แสดงว่าผมดูถูกคนไทยทั้งประเทศ ผมจึงรับไม่ได้ ผมขอปฎิเสธว่าผมไม่ได้สั่งอย่างนั้น” นายจารุพงศ์ กล่าว                     นายจารุพงศ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่สั่งอย่างนั้นเพราะกังวัลว่าคน 200 คน จาก 150000 คน จะต้องคัดให้ดี ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะได้ทำให้การทำประชาเสวนามาน้ำหนัก และให้ระมัดระวังเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มสีต้องเป็นไปตามสัดส่วนและตัวแทนของกลุ่มสีที่จะเข้ามาต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากนี้ผู้อาวุโสยังกล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ดีอยู่แล้ว ซึ่งตนรู้สึกเสียใจที่คนระดับนั้น ทำไมถึงคิดว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากการทำรัฐประหารเป็นของที่ดี และรัฐธรรมนูญปี 40 เลวกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 อย่างนั้นหรือ                     “เพราะฉะนั้นการคิดว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดจะดำเนินการทันทีไม่ได้ แต่จะต้องทำประชาเสวนาก่อน และให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าเห็นอย่างไร ซึ่งการทำประชาเสวนาก็ควรทำไม่ใช่หรือ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ล้วนมีปัญหาทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข                     เมื่อถามว่าเวทีประชาเสวนาจะเริ่มได้เมื่อไร นายจารุพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ประชุมอยู่เป็นระยะๆตลอด แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เพราะว่าการจัดเวทีสานเสวนาใช่ว่าใครจะคิดก็คิด แต่เป็นข้อเสนอที่มาจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และทุกหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งเห็นว่าควรจะต้องทำประชาเสวนาในเบื้องต้นเป็นอันดับแรก คือต้องถามประชาชน และทำความเข้าใจว่าประชาชนคิดอย่างไร จึงเป็นที่มาของการสานเสวนา ส่วนจะถามประชาชนอย่างไรก็ต้องถามตามหลักสถิติให้ครอบคลุมทั่วประเทศ                     เมื่อถามว่ายืนยันจะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า ยืนยันต้องเดินหน้าต่อ เพราะความขัดแย้งทุกอย่างทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะคลี่คลายได้นั้น เกิดจากการจัดเวทีประชาเสวนา เพื่อให้เกิดความปรองดอง ซึ่งการจะเกิดความปรองดองได้ กติกาต้องดีด้วย กติกาก็คือร่างรัฐธรรมนูญถูกต้องและเป็นที่ยอมรับกันทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งลดลง                     “การทำเสวนาคือการถามประชาชนก่อนว่าจะทำอะไร แต่อย่าไปกำหนดประเด็นต่างๆ ก่อนการประชาเสวนาเพราะเมื่อเกิดการประชาเสวนาแล้วจะมีคำตอบเองว่าจะต้องทำอะไร ถ้าตอบก่อนก็จะเป็นการชี้นำ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” นายจารุพงศ์ กล่าว        

No comments:

Post a Comment

Blog Archive