Sunday, November 18, 2012

ปู หารือ โอบามา ยันเดินหน้า TPP ชู ไทย พันธมิตรสำคัญสุดในภูมิภาค

ปู หารือ โอบามา ยันเดินหน้า TPP ชู ไทย พันธมิตรสำคัญสุดในภูมิภาค
ยิ่งลักษณ์ หารือ โอบามา ที่ทำเนียบรัฐบาล ยันเริ่มเดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยาหอมไทย ยกพันธมิตรสำคัญที่สุดในภูมิภาค พร้อมหนุนประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืน...เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเข้าหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ในการนี้นายกรัฐมนตรีได้นำประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินตรวจแถวกองเกียรติยศ จำนวน 3 กองร้อย ทั้งจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่บริเวณหนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ท่ามกลางสายตาของสื่อมวลชน ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะลงนามในสมุดเยี่ยม ณ ห้องสีงาช้างด้านนอก และผู้นำทั้ง 2 ได้เข้าไปร่วมหารือทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ ณ ห้องสีงาช้างด้านในหลังจากหารือเสร็จสิ้น นายบารัค ได้ร่วมกับนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ที่ตึกสันติไมตรี โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวว่า ขอบคุณประธานาธิบดีบารัค ที่ได้เลือกประเทศไทย เป็นประเทศแรกในการเยือนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโอกาสที่ทั้ง 2 ประเทศ ฉลองครบรอบ 180 ปี ไทย-สหรัฐอเมริกา ในนามรัฐบาลไทย ขอขอบคุณประธานาธิบดีโอบามา รวมทั้งเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสนำประธานาธิบดีโอบามา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะเดียวกัน ไทยถือเป็นพันธมิตรที่มีความเก่าแก่ และสำคัญมากที่สุดในทวีปเอเชีย นี่ถือเป็นความมั่นคง และขอขอบคุณที่สหรัฐอเมริกาได้ช่วยกันส่งเสริมประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งไทยจะได้มีความร่วมมือกับอเมริกัน ทั้งในด้านการส่งเสริมการลงทุน ความมั่นคงด้านอาหาร ด้านพลังงาน ซึ่งไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในประชาคมอาเซียน ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค และเกิดเสรีภาพอย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับว่า ประเทศไทยจะได้เริ่มตั้นกระบวนการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐอเมริกา โดยให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยหารืออย่างกว้างขวาง และไทยมีความยินดี ที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมทั้งยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ PSI การกำจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายร้ายแรง ทั้งนี้ ไทยหวังว่า การเข้าร่วมครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยทำให้อาวุธไม่ตกไปอยู่กับผู้ที่ไม่หวังดี นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ หรือการค้าทาสสมัยใหม่ ทั้งนี้จะได้เน้นความสำคัญในระดับต่างๆ ต่อไป และมีความยินดีที่จะได้ติดต่อกับท่านประธานาธิบดีอย่างใกล้ชิดขณะที่นายบารัค ได้กล่าวขอบคุณไทย ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวสวัสดีเป็นภาษาไทย พร้อมระบุว่า อย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ ที่เลือกมาเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สหรัฐอเมริกา มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เพราะเราเล็งเห็นว่า สหรัฐฯ และไทยต้องทำงานร่วมกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและในด้านต่างๆ และในวาระที่สหรัฐฯ และไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตยาวนานถึง 180 ปี และนี่คือเหตุผลที่ต้องมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยได้ฟื้นฟูกระชับระบบประชาธิปไตย และตนก็มีความภาคภูมิใจที่ตอนบ่ายที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นผู้นำแสดงถึงเอกลักษณ์และเอกภาพของประเทศนี้ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้มีข้อตกลงร่วมกับไทย กับปัญหาที่ท้าทายในภูมิภาคนี้ ดังต่อไปนี้ ปัญหาแรกคือ ปัญหาด้านความมั่นคง ที่จะมีการซ้อมรบร่วมกัน ปรับปรุงกองทัพร่วมกัน และจะได้มีส่วนร่วมช่วยกองทัพไทย ในเรื่องการดูแลน่านน้ำ รวมไปถึงปัญหาโจรสลัด โดยสหรัฐฯ หวังว่า เราจะร่วมกันทำงานด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า และวิสัยทัศน์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการค้าในยุคสมัยใหม่ และเน้นการพัฒนาสาธารณสุขให้ยั่งยืนและมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาโรคมาลาเรีย ระหว่างพรมแดนไทย-พม่า โดยสหรัฐฯ ยินดีที่ช่วยไทยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งสนับสนุนให้สตรีมีโอกาสและมีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวยอมรับอีกว่า ส่วนตัวชอบทานอาหารไทย และขอขอบคุณครับส่วนช่วงท้ายการแถลงข่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ซักถามผู้นำทั้ง 2 ในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ยังหาคนทำผิดไม่ได้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มีความตั้งใจสร้างเสถียรภาพ เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเติบโตได้ ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กันเพื่อลดช่องว่างประชาชน จึงจะเกิดความปรองดองของคนในชาติ แต่ทั้งหมดต้องยึดมั่นในหลักกฎหมาย และเราต้องทำให้เกิดสันติวิธีขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่นิ่ง แต่เราต้องทำงานจึงจะได้ประชาธิปไตยมา เราจะทำงานร่วมกับไทยอย่างไม่หยุดยั้ง และยินดีที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากประชาธิปไตย และมีเสรีภาพในการแสดงออก และเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีของไทย จะช่วยกระชับประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ดีนอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามคำถามเกี่ยวกับประเทศพม่า ที่ประธานาธิบดีโอบามาจะได้เดินทางไปเยือนเป็นประเทศต่อไปในวันพรุ่งนี้ ตัดสินใจไปเยือนเร็วไปหรือไม่ ทั้งที่พม่ายังมีปัญหามนุษยชน และไทยที่ถือเป็นเพื่อนบ้านมีความเห็นอย่างไร นายโอบามา กล่าวว่า เราเดินทางไปเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมในประเทศพม่า แต่ไม่ได้ไปรับรองรัฐบาลพม่า ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าประธานาธิบดี เต็งเส็ง พม่า และนางออง ซาน ซูจี ได้มีสัญญาณการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ช่วยลดช่องว่างด้านเศรษฐกิจของประชาชนในพม่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน มันเป็นการสำคัญที่ไทยจะช่วยส่งเสริมให้พม่ากลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างไรก็ตาม นายบารัค กล่าวยอมรับว่า นโยบายสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ นั่นคือการขยายการค้าและการลงทุน ในเอเชีย และการรักษาเสถียรภาพ ทำให้เกิดความมั่นคงไพบูลย์ ในภูมิภาคต่อไปต่อมาเวลา 20.15 น. หลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคณะ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาลหลังจากนั้นเวลา 21.45 น. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมงานเลี้ยงเป็นการภายในของสถานทูตสหรัฐฯ ที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนอนพักค้างคืนที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ก่อนออกเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ในเช้าวันที่ 19 พ.ย. เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของเมียนมาร์ และเดินทางต่อไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ในเวทีอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา.  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive